น.ส.สุวรรณี  วังกานต์ รอง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ( สสช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า สสช. ได้ สำรวจภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566 ซึ่งได้เก็บรวบรวม ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน และทรัพย์สิน ของครัวเรือน ตลอดจนลักษณะที่อยู่อาศัย โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (ม.ค. – ธ.ค.66) จากครัวเรือนตัวอย่าง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล  พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้ทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 29,030 บาท โดย 70.5 % เป็นรายได้จากการทำงาน  ซึ่งได้แก่ ค่าจ้างและเงินเดือน กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจและการเกษตร ส่วน 14.5 % เป็นรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินซึ่งอยู่ในรูปสวัสดิการ/สินค้าบริการที่ได้รับมาโดยไม่ต้องซื้อ

สำหรับค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น พบว่าครัวเรือนมีการใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 23,695 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อาหาร/เครื่องดื่ม/ยาสูบ จำนวน 35.3%  ที่อยู่อาศัย/เครื่องใช้ในบ้าน  21.9 % และยานพาหนะ และการเดินทาง 16.0%   ส่วนค่าใช้จ่ายที่ ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ภาษี เบี้ยประกันภัยเพียง  12.9%

น.ส.สุวรรณี  กล่าวต่อว่า  เมื่อพิจารณาในส่วนของหนี้สิน พบว่ามีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น 197,255 บาท โดย 77.7 % เป็นหนี้สินที่ใช้ในครัวเรือน ได้แก่ หนี้สินเพื่อซื้อ หรือ เช่าซื้อบ้าน หรือที่ดิน  จำนวน 79,410 บาทต่อครัวเรือน ใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค 71,250 บาทต่อครัวเรือน และการศึกษา 2,625 บาทต่อครัวเรือน  ส่วนอีก 22.3 %  เป็นหนี้สินที่ใช้ในการลงทุนและอื่น ๆ คิดเป็น   43,970 บาทต่อครัวเรือน ได้แก่ หนี้สินที่ใช้ทำการเกษตร  27,963 บาทต่อครัวเรือน ใช้ทำธุรกิจ  15,276 บาทต่อครัวเรือน และวัตถุประสงค์อื่น ๆ จำนวน 713 บาทต่อครัวเรือน

“จากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2566 ทำให้เห็นถึงภาพรวมสถานการณ์ ด้านเศรษฐกิจ และสังคมของครัวเรือน ว่า รายได้และค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งสิ้น มีแนวโน้มลดลง”  น.ส.สุวรรณี   กล่าว