เมื่อวันที่ 12 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรับร้องเรียนจากประชาชน ให้ช่วยตรวจสอบพระสงฆ์ ขี่รถจักรยานยนต์ซาเล้งพ่วงข้าง อยู่ในเมือง บนถนนหลวง สุขุมวิทหมายเลข 3 พื้นที่ ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จึงลงพื้นที่ตรวจสอบ เบื้องต้นพบพระรูปดังกล่าวขี่รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง ยี่ห้อฮอนด้า สีน้ำเงิน ทะเบียนนครสวรรค์ มาจอดอยู่ข้างอาคารโรงพักสัตหีบ ส่วนพระสงฆ์ที่ขี่มานั้นได้นั่งรอคิวในห้องทำบัตรประชาชน อยู่นานร่วม 2 ชั่วโมง

สอบถาม นางพิกุล โสภา ปลัดอำเภอสัตหีบ กล่าวว่า พระสงฆ์รูปดังกล่าวมาติดต่อขอทำบัตรประชาชน โดยมีสมุดสุทธิมาแสดงปรากฏชื่อว่า แต่ออกมาไม่สมบูรณ์ ทางอำเภอจึงไม่สามารถดำเนินการทำบัตรให้ได้ พระจึงทิ้งสมุดสุทธิไว้ แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ว่า จะออกมาดูบุตรชาย ที่มาเกณฑ์ทหารภายในศาลาประชาคม แล้วเดินออกไป

ผู้สื่อข่าวจึงรีบตามออกไปสอบถามพระรูปดังกล่าว เบื้องต้นเปิดเผยว่า บวชอยู่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการบวชแก้บนขอให้รอดพ้นจากโควิด-19 จากนั้นมาอาศัยอยู่กับลูกที่หมู่บ้านเอื้ออาทร นาจอมเทียน โดยไม่ได้อยู่จำวัด จากนั้นพระได้ขอตัวแยกออกไป บอกว่าจะไปดูลูกที่กำลังเกณฑ์ทหาร แต่ต่อมาไม่กี่นาที พระรูปดังกล่าวได้ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเข้าไปในตลาดสัตหีบ มุ่งหน้าออกถนนสุขุมวิท

ซึ่งมีรถและประชาชนอยู่คับคั่ง ทำเอาต้องหันมองกันเป็นตาเดียวกับภาพที่เห็นและต่างตั้งคำถามว่า เป็นการกระทำที่ผิด เหมาะสมหรือไม่อย่างใด ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดตามไปถึงจุดหมายปลายทางวัดแห่งหนึ่งใน ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ เป็นระยะทางไกล 16 กม. โดยจอดรถไว้ที่หน้าอาคารแห่งหนึ่งก่อนหายตัวเข้าไปในวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า กรณี พระสงฆ์ขี่รถจักรยานยนต์ หรือขับรถยนต์ได้หรือไม่นั้น มหาเถรสมาคมมีมติ “ห้าม” พระและสามเณรขับรถยนต์ รวมถึง “ห้าม” ขี่รถจักรยานยนต์เว้นแต่เป็นการขับขี่เพื่อกิจการของวัด โดยเป็นการขับขี่ภายในวัด หรือเหตุจำเป็นฉุกเฉินอย่างยิ่ง เช่น มีพระภิกษุ สามเณรอาพาธ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุ นางพิกุล ปลัดอำเภอสัตหีบ ได้ประสานไปยัง พระครูปลัดวินัย ธีรปญฺโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทพประสาท ร่วมกับคณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง เข้าทำการตรวจสอบว่า เป็นพระสงฆ์ที่บวชมาอย่างถูกต้องหรือไม่ ส่วนกรณีขี่รถจักรยานยนต์นั้น พึ่งได้รับทราบ หลักฐานเป็นรูปถ่าย อยู่ในระหว่างการหาข้อสรุปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป