ถือเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ อยู่ในสังกัดภายใต้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำหรับ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ที่ได้แยกตัวออกมาจากสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเกิดการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

วันนี้จะมารู้จักบทบาทหน้าที่ และโครงการที่ BDI ได้ดำเนินการอยู่ กับ “ดร.ธีรณี อจลากุล” ผู้อำนวยการ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI ที่ต้องนำองค์กรใหม่ของกระทรวงดีอี แห่งนี้นำบิ๊กดาต้า  (Big Data ) มาช่วยพัฒนาประเทศ

ภาพ pixabay.com

“ดร.ธีรณี อจลากุล” บอกว่า บทบาทที่สำคัญของ BDI คือ การส่งเสริมและประสานให้เกิดการใช้ข้อมูล เชิงวิเคราะห์ เพื่อการตัดสินใจและบริการ และยังเป็นหน่วยงานผู้ให้บริการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลในสาขาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์  เพื่อสร้างระบบนิเวศในห่วงโซ่คุณค่าด้านข้อมูลทั้งในมิติของเทคโนโลยี และกำลังคน ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการด้านข้อมูลเพิ่มขึ้น รองรับอุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมไทย พร้อมด้วยพัฒนา กำลังคนด้าน Big Data ด้วย

“ บุคลากรของ BDI เป็นคนรุ่นใหม่กว่า  104 คน โดย 30% เป็นนักเรียนทุนจบด้านวิทยาการข้อมูล ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ที่พร้อมเรียนรู้ มีความยืดหยุ่น คล่องตัว เป้าหมายชัดเจน ที่จะพัฒนาความได้เปรียบ ในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ยั่งยืน และมีความโปร่งใส การพัฒนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ผ่านการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Nation) ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยข้อมูลเพื่อนำทางการ เปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม”

“ดร.ธีรณี อจลากุล” บอกว่า ปีนี้  BDI ได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นของตัวเอง ไม่ได้ใช้ร่วมกับดีป้าแล้ว ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณมา เกือบ 300 ล้านบาท  และตั้งเป้าเพิ่มบุคลากรให้ได้ เป็น 200 คน ใน 2-3 ปีข้างหน้า  โดย การทำงานจะเร่งตอบโจทย์ในระยะสั้นให้ภาครัฐ ขณะเดียวกันก็สามารถสนับสนุน บริการข้อมูลให้ภาคธุรกิจได้ด้วย

ภาพ pixabay.com

สำหรับ 3 โปรเจคหลัก ของ BDI ที่พร้อมนำข้อมูลมาสู่การขับเคลื่อนประเทศ คือ

1. Project BIG: Big Data Integration and Governance รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นจากหน่วยงานต่าง ๆ จัดเก็บ รวมทั้งให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์และความเหมาะสม เพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย โครงการ Health Link  แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลทั่วประเทศ ช่วยให้แพทย์ สามารถดูประวัติการรักษาได้ทันที  

โดยตอนนี้สามารถรวมข้อมูลได้แล้วมากกว่า 300 โรงพยาบาล  และในอนาคตจะเพิ่มข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการที่ โรงพยาบาลต่างๆได้ โดยแพทย์สามารถเรียกดูข้อมูลการรักษาพยาบาล ที่ผ่านมาได้

โครงการ Travel Link แพลตฟอร์มเชื่อมโยงและพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ขยายขีดความสามารถการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โดยได้เริ่มต้นที่ จ.ภูเก็ต   และโครงการ Envi Link แพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่เมือง เพื่อสนับสนุนการวางแผนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด และลด Carbon Footprint รวมถึง  Data Analytics services  บริการบูรณาการ พัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูล ขนาดใหญ่แก่หน่วยงานภาครัฐ และ Data and Information Technology บริการด้านวิศวกรรมข้อมูล

ภาพ pixabay.com

2. Project Bridge โครงการพัฒนาผู้ประกอบการโดยสร้างทั้งอุปสงค์และอุปทานของศาสตร์ด้านข้อมูล ประกอบด้วย  Big Data Business Promotion  ศึกษาตลาดด้านข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์โจทย์ปัญหา และให้คำปรึกษา ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ  Big Data Ecosystem & Industrial Promotion  การสร้างประชาคมและเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมผู้ประกอบการ ในห่วงโซ่คุณค่าด้านบิ๊กดาต้า

Research And Innovations ค้นคว้า และพัฒนา ขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต ผ่านนวัตกรรมทาง Big Data และ AI โดยเฉพาะ โครงการ Thai Large Language Model (ThaiLLM)  ที่จะพัฒนา Thai Large Language Model (ThaiLLM) เป็น โครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทย โดยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาโมเดล ภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย (ThaiLLM) ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความที่มีความหมาย และเป็นธรรมชาติ ใกล้เคียงกับการใช้ภาษาของมนุษย์ พร้อมทำการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์ สำหรับภาษาไทย ที่เป็นโมเดลกลาง (Foundation Model)ที่สามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายงาน ประยุกต์ทั้งในภาครัฐและเอกชน

และโปรเจคสุดท้าย 3. Project Learn  ประกอบด้วย Manpower Development in Big Data พัฒนากำลัง คนด้าน Big Data ยกระดับทักษะด้านการประมวลผล การวิเคราะห์ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างนักวิเคราะห์ข้อมูล และวิศวกรข้อมูล ให้กับประเทศ

Big Data E-Learning and Practice-Based Learning แพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อพัฒนากําลังคนด้าน Big Data และ AI เพื่อพัฒนาทักษะเดิมให้ทันกับยุคสมัย (Upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับ Digital Age (New skill)

ภาพ pixabay.com

ผู้บริหารของ BDI ได้ประเมินว่า โครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการนำบิ๊กดาต้ามาใช้งาน จะช่วย สร้างผลกระทบต่อมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท !!!

โดยสิ่งที่ต้องเร่งทำอย่างต่อเนื่องคือการ พัฒนาให้รัฐทำงานแบบบูรณาการร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล และสร้างให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ภาครัฐ เอกชนและประชาชนจะได้รับอย่างแท้จริง

 ทั้งหมดถือเป็นภารกิจที่ BDI จะนำ “บิ๊ก ดาต้า” มาช่วยขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งต่อไปเรื่อง “วิทยาการข้อมูล”  หรือ “Data Science” จะเข้ามามีบทบาทกับทุกภาคส่วนในอนาคตข้างหน้า .

จิราวัฒน์ จารุพันธ์