เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้ลงนามในมติมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 10/2567 มติที่ 313/2567 เรื่อง การตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) กรณีบรรพชาอุปสมบทแก่บุคคลทั่วไป เพื่อแจ้งไปยังเจ้าคณะใหญ่แต่ละหน และพระอุปัชฌาย์ทั่วประเทศ โดยมติ มส. ดังกล่าว ระบุว่า ในการประชุม มส. ครั้งที่ 10/2567 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่การประชุมครั้งที่ 9/2567 มติที่ 299/2567 มีมติมอบให้ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษา มส. พิจารณาข้อกฎหมาย และกฎ มส. เกี่ยวกับประเด็นการตรวจหาเชื้อเอชไอวี กรณีบรรพชาอุปสมบท แก่บุคคลทั่วไป แล้วนำเสนอ มส. พิจารณา นั้น

ในการนี้ ศ.พิเศษ ธงทอง ได้เสนอข้อพิจารณาต่อ มส. ดังนี้ 1.กรณีเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. 2566 เนื่องจากผู้สมัครเข้าบวชเป็นพระภิกษุในโครงการอุปสมบทหมู่เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ปี 2566 เฉลิมพระเกียรติ ณ วัดปากบ่อ กรุงเทพฯ ร้องเรียนสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ว่า วัดปากบ่อมีมาตรการบังคับให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี พร้อมกับชี้แจงว่า คนที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวี ไม่สามารถเข้ารับการบวชได้ เนื่องจากเป็นโรคอันตราย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นการตีตรา และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 2.สำนักงานคุ้มครองสิทธิฯ จึงมีหนังสือถึง พศ.สอบถาม กฎ ระเบียบ ข้อปฏิบัติ มติ มส. ที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินการหรือข้อห้ามหรือไม่ อย่างไร 3.พศ.มีหนังสือเรียนปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอทราบความเห็นตามความในกฎ มส. ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ที่กำหนดว่า “พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย” 4.สธ.ให้ความเห็นว่า สธ.ไม่เคยระบุถึง “โรคที่เข้าข่ายโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ” มีแต่ระบุเรื่องโรคติดต่ออันตรายไว้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ความว่า “โรคติดต่ออันตราย หมายความว่า โรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว”

5.แพทยสภาได้กำหนดแนวทางเรื่องการรับรองสุขภาพสำหรับการสมัครงานหรือสมัครเข้าศึกษาของบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้านสุขภาพว่า ผู้เข้ารับการตรวจที่ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ปรากฏอาการโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนหรือปัญญาอ่อน ไม่ปรากฏอาการติดยาเสพติดให้โทษและอาการโรคพิษสุราเรื้อรัง กับทั้ง ไม่ปรากฏอาการของโรค 3 ประการ คือ 1.โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 2.วัณโรคในระยะอันตราย และ 3.โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม ซึ่ง สธ.เห็นว่า สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางรับรองสุขภาพของผู้ต้องการบวช เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ 6.สธ.ให้ข้อมูลว่า การติดเชื้อเอชไอวี ไม่ใช่โรค เป็นแต่เพียงการได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายแต่ร่างกายยังแข็งแรงและสามารถทำงานได้ การติดเชื้อเอชไอวีจึงไม่เข้าข่ายโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ 7.พศ.เสนอที่ประชุม มส.ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 ว่า โรคอันตรายที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติวินัยห้ามบวช ได้แก่ โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ และโรคลมบ้าหมู 8.พศ.เสนอความเห็นว่า กฎ มส.ที่ห้ามมิให้พระอุปัชฌาย์บรรพชาอุปสมบทแก่ “คนที่มีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรค ในระยะอันตราย” เป็นการกำหนดลักษณะต้องห้ามไว้อย่างกว้าง ไม่ชัดเจน ทำให้พระอุปัชฌาย์ต้องใช้ดุลพินิจในการตีความ ทำให้ผู้ขอบรรพชาอุปสมบทอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม 9.ศ.พิเศษ ธงทอง มีความเห็นว่า ผู้ทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยที่บังคับให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อาจถูกฟ้องเป็นคดีปกครอง หรือคดีละเมิดได้ จึงมีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าว ไม่อาจดำเนินการได้ตามกฎหมาย

โดยที่ประชุม มส.รับทราบความเห็น สธ. และพศ. ว่า การติดเชื้อเอชไอวีไม่ใช่โรค จึงไม่เข้าข่ายโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจตามกฎ มส. ที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับความเห็นของ ศ.พิเศษ ธงทอง ว่า การบังคับให้ผู้หนึ่งผู้ใดต้องตรวจหาเชื้อเอชไอวี ไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมาย อนึ่ง มตินี้ไม่กระทบกระเทือนต่อหน้าที่และอำนาจของพระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาสที่จะคัดกรองกุลบุตร และปกครองพระภิกษุสามเณรในสังกัด และมอบ พศ. แจ้งเจ้าคณะใหญ่ ทราบ และแจ้งพระอุปัชฌาย์ ถือปฏิบัติตามมติ มส. นี้