นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ทำเอาหลายคนโศกเศร้าไปตามกัน หลังจากมีการรายงานข่าว “แม่กิมไล้ บุญประเสริฐ” เจ้าของร้านขนมแม่กิมไล้ ได้เสียชีวิตด้วยโรคชรา ด้วยวัย 90 ปี ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้

สำหรับประวัติ “แม่กิมไล้ บุญประเสริฐ” ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในฐานะหญิงนักสู้ชีวิตด้วยความยากลำบาก มีความเข้มแข็ง อดทน ทำงานตรากตรำอาบเหงื่อต่างน้ำ เร่หาบและเข็นรถเข็นขนมขายแถวริมฟุตปาธและในตลาดเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่เช้าจดค่ำ จนสามารถฟันฝ่าอุปสรรค และสามารถผ่านเส้นชัยชีวิต ได้เป็นเจ้าของธุรกิจร้านขายขนมหวานพื้นเมือง ทั้งของฝากและของที่ระลึกของเมืองเพชรบุรี ภายใต้แบรนด์ “แม่กิมไล้” ด้วยความหวานหอมของขนมหม้อแกงสูตรความอร่อยที่ลงตัวและไม่มีใครเหมือน ทำให้หลายคนติดใจจนกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัดเพชรบุรี มาจนถึงปัจจุบัน

แม่กิมไล้ มีชื่อ-สกุลเดิมว่า น.ส.ไล้ ตะบูนพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2477 ที่ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นบุตรสาวคนที่ 6 จากจำนวนพี่น้อง 7 คนของ นายหมู-นางแดง ตะบูนพงษ์ ในวัยเยาว์ ครอบครัวของแม่กิมไล้ค่อนข้างมีฐานะ บิดามารดาประกอบอาชีพทำขนมไทยขายในชุมชนสองฟากฝั่งริมแม่น้ำปากอ่าวบางตะบูน และในงานประจำปีตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดเขาตะเครา วัดปากอ่าวบางตะบูน และวัดเขายี่สาร เป็นต้น

แม่กิมไล้เริ่มการศึกษาที่ โรงเรียนวัดปากอ่าว (ญาณสาครวิทยาคาร) ต.บางตะบูนออก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ช่วงวันหยุดจะร่วมกับ น.ส.ลั้ง ตะบูนพงษ์ หรือ “แม่กิมลั้ง” ผู้เป็นพี่สาว พายเรือนำขนมไปขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนสองฟากฝั่งริมแม่น้ำปากอ่าวบางตะบูน

หลังจากเรียนจบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนวัดปากอ่าวแล้ว แม่กิมไล้ได้พบรักกับ จ.ส.ต.กลม บุญประเสริฐ ซึ่งรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ที่ สภ.ต.บางตะบูน แต่มารดาไม่ชอบลูกเขยที่เป็นตำรวจยศต่ำ และได้หมายมั่นจะให้บุตรสาวแต่งงานกับชายคนหนึ่ง ที่มีอายุแก่กว่ากัน 22 ปี แต่แม่กิมไล้ปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้รักชอบผู้ชายที่มารดาเลือกให้ ประกอบกับ จ.ส.ต.กลม ได้ย้ายมาประจำอยู่ที่ สภ.เมืองเพชรบุรี แม่กิมไล้จึงหนีตาม จ.ส.ต.กลม มาใช้ชีวิตด้วยกันในตัวเมืองเพชรบุรี ขณะมีอายุได้ 18 ปี

เริ่มแรกทั้งคู่ได้เช่าบ้านพักอาศัยอยู่ในซอยหน้าวัดมหาธาตุวรวิหาร ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ขณะนั้นแม่กิมไล้มีชีวิตที่แสนจะลำบาก เงินทองก็ไม่มีใช้ เพราะสามีทำงานคนเดียว เงินเดือนก็น้อย เพียงเดือนละ 750 บาทเท่านั้น กับข้าวแต่ละวันจะมีเพียงปลาสีกุนกับน้ำพริกและผักที่หาเก็บเอาตามข้างบ้าน แต่ถึงแม้ชีวิตจะลำบากแค่ไหน แม่กิมไล้ก็ไม่เคยปริปากบอกใคร และไม่คิดที่จะไปขอความช่วยเหลือจากใครด้วย

หลังจากอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนคอยทำหน้าที่เลี้ยงลูกทั้ง 7 คน มาตลอด 10 ปี จนแทบไม่มีโอกาสออกจากบ้านไปไหนเลย เมื่อลูกคนแรกอายุได้ 9 ขวบ แม่กิมไล้เห็นว่าตนควรคิดหาอะไรทำเพื่อเป็นการช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ประกอบกับแม่กิมไล้ มีความรู้ในเรื่องการทำขนมหวานที่เรียนรู้จากมารดามาตั้งแต่เด็ก จึงตัดสินใจทำขนมขาย โดยนำเงินทุนเท่าที่มีอยู่ไปซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบมาทำ ทั้งขนมกล้วย ขนมเทียน ขนมตาล และข้าวต้มมัด เสร็จแล้วเดินหาบไปนั่งขายแถวริมฟุตปาธและตามตลาดในตัวเมืองเพชรบุรี ตั้งแต่เช้าจดค่ำเป็นประจำทุกวัน

การทำขนมขายในระยะแรกยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่แม่กิมไล้ก็ไม่ย่อท้อ ยังคงก้มหน้าก้มตาทำขนมต่อไป โดยมีลูกๆ คอยช่วยเหลือเท่าที่พอจะช่วยได้ ส่วนสามีหลังเลิกจากหน้าที่การงาน ก็จะมาช่วยตัดทางมะพร้าว ฉีกใบตอง คั้นกะทิ และช่วยห่อขนม

แม่กิมไล้อดทนต่อสู้กับความยากจน มุ่งมั่นในการทำขนมแบบอดตาหลับขับตานอน จนเริ่มประสบผลสำเร็จ จากขนมที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ก็เริ่มเป็นที่กล่าวขานของชาวตลาดเมืองเพชรบุรี ขนมห่อที่เคยหาบเพียงเล็กน้อย ก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น จากที่เคยหาบขนมขายจนหลังแอ่น ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เป็นรถเข็นแทน

ต่อมาแม่กิมไล้ได้เปลี่ยนแนวคิดจากการทำขนมห่อ หันมาทำขนมหวานจำพวก ทองหยิบ ฝอยทอง ลูกชุบ บ้าบิ่น สังขยา ขนมหม้อแกง ฯลฯ โดยลองผิดลองถูกอยู่นาน จนได้รสชาติของขนมที่อร่อยถูกปากลูกค้า จากนั้นได้ว่าจ้างช่างที่หน้าวัดยาง ต่อรถเข็นใส่ตู้กระจก เพื่อใส่ขนมหวานแล้วเข็นออกไปขายอยู่ที่หน้าวัดมหาธาตุวรวิหาร จ.เพชรบุรี

มีอยู่วันหนึ่ง พระเทพวงศาจารย์ หรือ “หลวงพ่ออินทร์” เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดยาง ในขณะนั้น ผ่านมาเห็น และได้ทักทายกับแม่กิมไล้ว่าจะรวยกันใหญ่แล้ว พร้อมตั้งชื่อให้ว่า “แม่กิมไล้” เป็นชื่อสิริมงคลสำหรับการค้าขายขนมหวานมาจนถึงปัจจุบัน

ขนมหวานของแม่กิมไล้เริ่มขายดิบขายดีเป็นที่โจษขานของชาวเมืองเพชรบุรี ส่งผลให้แม่กิมไล้เริ่มมีเงินมีทองเก็บ กระทั่งในปี 2515 จึงขยายกิจการเปลี่ยนจากรถเข็นไปขอเช่าพื้นที่เปิดร้านขายขนมหวานที่หน้าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบุรี ใกล้โรงค้าไม้ซุ่นเฮงหลี ในซอยข้างธนาคารออมสิน สาขาสะพานจอมเกล้า

สมัย นายเอนก พยัคฆันตร์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้จัดงานกาชาด ณ สนามหน้าเขาวัง (พระนครคีรี) ภายในงานจัดให้มีการประกวดการทำขนมไทยเมืองเพชร โดยกำหนดให้ทำขนมหม้อแกงสูตรของตัวเอง ซึ่ง ครูทิม วรรณคีรี อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย ในขณะนั้น ได้นำ “ขนมหม้อแกงของแม่กิมไล้” ส่งเข้าประกวด เมื่อคณะกรรมการได้ชิมขนมหม้อแกงของแม่กิมไล้ เห็นว่ามีรสชาติหวานมัน หอมกลมกล่อม และมีความอร่อยเป็นเอกลักษณ์ จึงตัดสินให้ขนมหม้อแกงแม่กิมไล้ ได้รับรางวัล “ชนะเลิศ”

จากนั้นมาขนมหม้อแกงแม่กิมไล้ เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ยังเคยให้ทหารมาซื้อไปลิ้มลองอยู่บ่อยครั้ง รวมถึง นายสมจิตร พวงมณี ผู้กว้างขวางสมัยนั้น ก็เคยซื้อไปฝาก พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร, จอมพล ถนอม กิตติขจร และ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ตลอดจน นายปิยะ อังกินันทน์ ก็ซื้อไปฝาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี อยู่เป็นประจำอีกด้วย ทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น

ต่อมาในปี 2517 แม่กิมไล้เห็นว่าธุรกิจการทำขนมหวานเริ่มเจริญเติบโตเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จึงไปซื้อตึกแถวอาคารวัชรเสวีของ นายแพทย์อภิชัย สิริอักษร ที่หน้าเขาวัง ฝั่งตรงข้ามกับร้านขนมเพชรปิ่นแก้ว เปิดเป็นร้านขายของฝากเป็นแห่งแรก ก่อนขยายไปเปิดที่ฝั่งตรงข้ามอีก 1 ร้าน จนธุรกิจเริ่มเจริญรุ่งเรือง มีลูกค้าและนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้สามารถเลือกซื้อของฝากได้สะดวกและถูกใจ แม่กิมไล้จึงได้ขยายสาขาเพิ่มอีก 4 สาขา ประกอบด้วยสาขา ต.หัวสะพาน อ.เมืองเพชรบุรี สาขา ต.เขาทโมน อ.บ้านลาด สาขา ต.ท่ายาง และสาขา ต.ไร่ส้ม รวม 5 สาขา โดยมีลูกหลานร่วมด้วยช่วยกันบริหาร จนกิจการรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบันนี้…

ขอบคุณข้อมูล : @เพชรบุรีนิวส์