รัฐบาลโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้กดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบสถาบันการเงินลดลง เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ยากลำบาก ค่าครองชีพสูง มีภาระทางการเงินมากจากดอกเบี้ยที่สูงในปัจจุบัน แต่ท่าทีของแบงก์ชาติก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหว หรือส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยลงอย่างชัดเจน

เรียกนายแบงก์คุย

จนล่าสุด นายกฯเศรษฐา ได้เรียก 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ นำมาโดยซีอีโอ ประกอบด้วย “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์, “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย, “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และ “ชาติศิริ  โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งถือเป็นธนาคารตัวแทนของสมาคมธนาคารไทยที่จะรับสารนายกฯ นำมาคิดหาแนวทางช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางต่อไป

การเรียกผู้บริหารเบอร์หนึ่งของ 4 แบงก์ใหญ่ในครั้งนี้ของนายกฯเศรษฐา ถือเป็นการข้ามหน้าข้ามตาผู้กำกับดูแลอย่างแบงก์ชาติ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลและออกนโยบายควบคุมดูแลธนาคารพาณิชย์ในไทย ซึ่งมีกระแสออกมาว่า “เศรษฐา” ไม่สามารถควบคุมสั่งการให้แบงก์ชาติทำตามได้ จึงต้องนัดคุยนายแบงก์ร้องขอให้ช่วย งานนี้เปรียบเสมือน “แทรกแซง” การทำงานของแบงก์ชาติอยู่ไม่น้อย

แบงก์ชาติไม่ลด

ความขัดแย้งระหว่าง“แบงก์ชาติ” และ “รัฐบาล” โดยเฉพาะระหว่าง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี กับ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท. มักจะเกิดปัญหามาตลอด ยิ่งต้องทำนโยบายร่วมกันอย่าง แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลเศรษฐา ยิ่งเห็นความชัดเจนจากการที่ “เศรษฐพุฒิ” ไม่เข้าร่วมโต๊ะประชุมด้วยกันหลายครั้ง แถมยังทำหนังสือไม่เห็นด้วยซึ่งวิธี แนวทาง และรายละเอียดโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตบางประการ

จนมาถึงการร้องขอให้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ย ของนายกฯเศรษฐา แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล เพราะการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่แบงก์ชาติ นัดล่าสุดเมื่อวันที่10 เม.ย.67 ที่ผ่านมา มติของกนง.มี5 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับสูงอยู่ที่2.50% ซึ่งกรรมการ 2 ท่านให้ลดดอกเบี้ยเนื่องจากเห็นว่าศักยภาพเศรษฐกิจโตต่ำจากปัจจัยเชิงโครงสร้างชัดเจนขึ้นและหวังจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้ได้บ้าง

ทำให้ต้องลุ้นกันต่อในการประชุมกนง.รอบถัดไปในวันที่ 12 มิ.ย.67 นี้ ว่ากรรมการทั้ง 7 ท่านจะมีความคิดเห็นและมติออกมามีผลอย่างไร ซึ่งระหว่างทางกว่าจะถึงวันประชุมกนง.รอบหน้า มีเวลาอีกหลายเดือน พอถึงเวลานั้น สถานการณ์ต่าง ๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างประเทศ เช่น ความขัดแย้งการสู้รบระหว่างประเทศ ปัจจัยนโยบายการเงินประเทศสำคัญหลัก ๆ และปัจจัยในประเทศที่อาจเปลี่ยนไป
โดยกนง.ยังยึดถือ 3 ด้านในการพิจารณา คือเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, การดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน และเงินเฟ้อ

แบงก์สนองนายกฯ

ในด้านธนาคารพาณิชย์ล่าสุดหลังจากนายกฯเศรษฐาเรียกคุยนายแบงก์ 4 ธนาคารใหญ่ ถือว่าได้ผล เพราะผลมติของสมาคมธนาคารไทยที่นัดประชุมกันช่วงค่ำวันที่ 24 เม.ย. ออกมาดีทีเดียว มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ เอ็มอาร์อาร์ 0.25% แต่เป็นเพียงระยะสั้นชั่วคราว 6 เดือนเท่านั้น และ มีเงื่อนไขลดดอกเบี้ยให้กับกลุ่มลูกค้าเปราะบาง ทั้งประเภทบุคคลและเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่แล้ว ดอกเบี้ยประเภทเอ็มอาร์อาร์ครอบคลุมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบ้านแลกเงิน และสินเชื่อเอสเอ็มอี

การลดดอกเบี้ย 0.25% ทำให้ภาระดอกเบี้ยลด เช่น ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน ซึ่งมีส่วนให้การตัดเงินต้นได้มากขึ้น รวมถึงลูกหนี้บางรายอาจมีค่างวดที่ลดลง แต่การลดดอกเบี้ย0.25% ต้องไปดูในรายละเอียดว่า 0.25% ต่อปีหรือไม่ ถ้าเป็นระยะเวลา 6 เดือนก็อาจไม่ได้ลดเต็ม 0.25% จริง และในแต่ละธนาคารต้องไปพิจารณาเกณฑ์ลูกค้ากลุ่มเปราะบางของตัวเองว่ามีคำนิยามอย่างไร เช่น ในเรื่องของการขีดเส้นรายได้ว่าเท่าไร วงเงินกู้มีเท่าไร และผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่สามารถได้รับสิทธิลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ซึ่งมีเงื่อนไขอีกมาก

ตามกันมาติด ๆ ด้วยแบงก์รัฐ ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์ 0.25% ในทุกกลุ่ม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.67 นาน 6 เดือนเช่นเดียวกัน ยกเว้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ขอปรับลดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ 0.25% เฉพาะกลุ่มเปราะบางนาน 6 เดือน เพราะที่ผ่านมาได้พักหนี้ให้เกษตรกรไปแล้ว

ภายหลังสมาคมธนาคารไทยได้ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ทางด้าน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ก็ตอบรับทันทีด้วยการชื่นชมที่ธนาคารเข้ามาช่วยกลุ่มเปราะบาง เข้าใจภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยหาเช้ากินค่ำ แม้จะเป็นเพียงแค่ 6 เดือน แต่ช่วยต่อลมหายใจให้เอากำไรไปต่อยอดได้ ส่วนประชาชนกลุ่มอื่น ๆ รัฐบาลจะหาแนวทางและมาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนให้ได้มากที่สุด

ไม่ช่วยอะไรเยอะ

ในงานแบงก์ชาติพบนักวิเคราะห์ ที่ได้บรรยายถึงเรื่องเหตุผลของการคงดอกเบี้ยของกนง.ในรอบล่าสุด โดยช่วงหนึ่งได้แสดงความเห็น กนง.พร้อมทบทวนดอกเบี้ยนโยบายหากมีข้อมูลใหม่จนทำให้มุมมองเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไป และยังประเมินว่าการลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25-0.50% ไม่ได้ส่งผลช่วยอะไรเยอะ และถ้าให้ลดดอกเบี้ยเยอะก็คงไม่สามารถทำได้ เพราะต้องคิดให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ขณะเดียวกันธปท.มองว่าถ้าลดดอกเบี้ย 1% จะช่วยลดภาระประชาชนได้จริงแต่เป็นช่วงในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะกระตุ้นก่อหนี้มากขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจระยะยาว

แม้ธนาคารพาณิชย์จะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ตามที่นายกฯ เศรษฐา ต้องการ แต่ก็เป็นแค่ชั่วคราว แถมยังให้กับกลุ่มลูกค้าเปราะบาง ไม่ได้เป็นการทั่วไป ดูเหมือนทำแค่ให้สนองคำขอนายกฯเท่านั้น แต่ของจริงคงต้องหวังการประชุม กนง. 12 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ว่าจะเลือกทางไหน ถ้าหากเลือกลดดอกเบี้ยนโยบายลง ก็จะทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารลดลงตามได้ในทันที แต่ถ้าหาก กนง. ไม่เลือกปรับลดดอกเบี้ยลงในรอบถัดไปนี้ ก็คงจะมีโอกาสน้อยลงที่ได้เห็นดอกเบี้ยปรับลดลงในปีนี้แน่นอน

ปิดประตูลดดอกเบี้ย

การลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ เป็นการลดลงแค่ชั่วคราว 6 เดือน ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมกนง.รอบถัดไป โดยนักวิเคราะห์ ได้จับสัญญาณของแบงก์ชาติว่า อาจปิดประตูลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วในปีนี้ ซึ่งหลายคนมองว่า… คำกล่าวของเจ้าหน้าที่ กนง.แบงก์ชาติ มีมุมมองเศรษฐกิจไทยที่ค่อย ๆ ฟื้น และการเบิกจ่ายภาครัฐกำลังกลับมา ทำให้ความจำเป็นในการใช้ดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจแทบไม่มี หรือพูดง่าย ๆ ไม่มีเหตุผลที่ต้องลดดอกเบี้ยถ้าเศรษฐกิจไม่ได้แย่กว่าที่ประเมินไว้

หลังจากนี้ยังต้องจับตาว่าทั้งแบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐ ที่ได้เฮโลประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% จะสามารถช่วยลูกหนี้กลุ่มนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นการลดดอกเบี้ยต่อ 12 เดือน หรือต่อ 1 ปี ขณะที่การลดเพียง 6 เดือน เมื่อคำนวณแบบคร่าว ๆ แล้วก็เท่ากับว่าดอกเบี้ยจะลดลงไปเพียงแค่ 0.125% เท่านั้น!!

ขณะเดียวกัน ก็ต้องตามติดด้วยว่าแต่ละแบงก์ แต่ละสถาบันการเงิน จะกำหนดเงื่อนไขอะไรบ้าง เพื่อชี้ให้ชัดว่าลูกค้าคนไหนบ้างที่เข้าเกณฑ์ ที่ได้รับการช่วยเหลือในรอบนี้ โดยต้องยอมรับด้วยว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ของแต่ละแบงก์ก็แตกต่างกันออกไปอีก รวมทั้งต้องรอดูด้วยว่าลูกหนี้ ลูกค้าจะสามารถลดภาระดอกเบี้ยต่องวดได้มากแค่ไหน ช่วยลดภาระค่าครองชีพตามที่นายกฯเศรษฐาหวังไว้ได้จริงหรือไม่!?.