เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตรวจติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาเหตุเพลิงไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมีอุตสาหกรรม บริษัท วินโพรเสส จำกัด ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง โดยทันทีที่นายกฯ ถึง ได้ลงพื้นที่รับฟังการรายงานการดำเนินการในพื้นที่​จากผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง​ ว่า​ ได้มีเจ้าหน้าที่สแตนด์บายตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไฟลุกขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของไฟไหม้ว่าเกิดจากอะไร โดยต้องรอให้ไฟสงบและให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบ 

ด้าน นายกฯ ขอให้เร่งดำเนินการ​ ก่อนที่จะถามหาว่าอธิบดีกรมโรงงานฯ อยู่ที่ไหน​ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ​ มีการลงพื้นที่มาก่อนหน้านี้เมื่อไหร่​ ซึ่งอธิบดีกรมโรงงานฯ ตอบว่ามาเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมาตอนเช้า​ ทำให้นายกฯ ถามกลับว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อไหร่ ทำไมจึงใช้ระยะเวลานานกว่าจะลงพื้นที่ ท่านเป็นอธิบดีกรมโรงงานฯ น่าจะมาให้ไวกว่านี้​ เพราะนี่เป็นเรื่องซีเรียสว่า หากมีข้อสันนิษฐานว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเกิดจากอุณหภูมิ​ที่สูง​ ตนขอฝากท่านไปดูต่อด้วยก็แล้วกัน โรงงานอื่นๆ ในลักษณะเช่นนี้หน้าร้อนอุณหภูมิสูงมาก หากเป็นไปได้อยากให้ตรวจสอบให้ดี 

ขณะที่ ผู้กำกับการตำรวจภูธร​จังหวัดระยอง​ รายงานว่า​ ขณะนี้ในเบื้องต้นกำลังจัดทำแผนที่คดี​ และดูว่า​มีวัตถุพยานอะไรบ้าง แต่ต้องรอให้เจ้าที่ตำรวจหรือมนุษย์สามารถเข้าไปยังพื้นที่ได้ด้วยความปลอดภัย ด้านนายกฯ ถามต่อว่า เมื่อใดจึงจะปลอดภัยและสามารถเข้าไปได้ ทั้งนี้ ผู้กำกับการตำรวจภูธร​จังหวัดระยอง​ จึงรายงานว่า​ ขณะนี้ยังมีการปะทุของไฟอยู่ ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นหนึ่งถึงสองวันนี้ 

จากนั้นนายกฯ และคณะ​ ได้รับฟังรายงานแผนการดำเนินการ โดยมีการอพยพประชาชนในพื้นที่ ออกจากพื้นที่เสี่ยงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงข้อกังวลการกระจายของสารเคมีลงดิน หากเกิดฝนตกได้มีการขุดบ่อเชื่อมต่อกับบ่อเดิม เพื่อสกัดสารเคมีไม่ให้กระจายไปยังพื้นที่อื่น โดยนายกฯ ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการงานร่วมกัน เพื่อป้องกันการปะทุของเหตุเพลิงไหมให้เข้าสู่สภาวะปกติ และจัดทำแผนเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุ นอกจากนี้ ให้เร่งประชาสัมพันธ์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบลงทะเบียนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ จังหวัดระยอง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอบ้านค่าย เพื่อเป็นข้อมูลในการฟื้นฟูเยียวยา ตามกรอบกฎหมายที่กำหนดและเกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ นายกฯ ยังสั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจคุณภาพอากาศตามชุมชนและรายงานผลให้ทราบ เพื่อเป็นการจัดการคุณภาพของประชาชน ให้เร่งนำกลับสารเคมีอุตสาหกรรม​ในพื้นที่ไปทำลายให้ถูกต้อง และเตรียมความพร้อมรับมือแก้ไขปัญหาในช่วงฤดูฝน ที่จะมีวัตถุอันตรายรั่วออกมานอกพื้นที่ โดยให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน รวมทั้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจโรงงานในลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศ เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก พร้อมขอให้กรมการปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หาผู้กระทำความผิดและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

“อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเหตุเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่เหตุใดท่านไม่ลงพื้นที่ให้ไวกว่านี้ ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องไม่ถูก จริงๆ แล้วผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกับพี่น้อง​ เดี๋ยวท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกับรัฐมนตรี​ คุยกับผมหน่อยนะครับ” นายกฯ กล่าว

จากนั้นนายกฯ ได้พูดคุยกันเป็นการส่วนตัวกับปลัดกระทรวง​อุตสาหกรรม และ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม และนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาประมาณ​ 5 นาที ก่อนที่จะรับฟังการสะท้อนปัญหาจากประชาชนในพื้นที่บ้างสวนว่า​ ทางกลุ่มได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นำสารเคมีออกจากพื้นที่มายาวนาน​ 10 กว่าปี​ แต่ยื่นทุกทีไม่ได้รับความเป็นธรรม​ ชาวบ้านจึงมาขอผู้ที่ใหญ่ที่สุดช่วย และวิงวอนให้ขนสารพิษออกจากพื้นที่โดยเร็ว​ เพราะชาวบ้านจะได้กลับมาทำมาหากิน​ และเก็บเกี่ยวผลผลิต

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างทางเข้าโรงงาน มีประชาชนมายืนถือป้ายประท้วงนายกฯ ว่าเหตุใดนายกฯ ลงมาถึงพื้นที่แล้ว แต่กลับไม่มาพบกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงด้วย.