เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ทีมข่าวเฉพากิจเดลินิวส์ เกาะติดปัญหา “ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร” ก็ยังพบว่า โครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ 8 โครงการใหญ่ เม็ดเงินรวม 558.2 ล้านบาท ยังไม่ปรากฏผู้รับเหมาเข้าทำงาน สภาพพื้นที่มีเพียงกองดิน ก้อนหิน เสาเข็ม วางเกะกะและยังสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ที่มองได้ถึงปัญหาการเอื้อประโยชน์และความผิดปกติในการใช้งบประมาณตรงนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจได้สืบค้นย้อนในเว็บไซต์ ข่าวประชาสัมพันธ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ลงไว้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 เกี่ยวกับการเข้ามาแก้ไขปัญหา “ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร” โดยมีเนื้อหาข่าวพาดหัวตัวใหญ่ว่า อธิบดีโยธาฯ ลงพื้นที่เข้มเพิ่มมาตรการให้ผู้รับจ้างทำงาน โครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกาฬสินธุ์ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่ เดลินิวส์ ได้เกาะติดตีแผ่ปัญหานี้มาตั้งแต่ต้นช่วงต้นปี 2566
“สำหรับเนื้อหาใจความข่าวที่ลงผ่านเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์ กรมโยธาฯ ได้ปรากฏภาพ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วย นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ในขณะนั้น นายถกนธ์ ข่ายสุวรรณ นางสาวสุภัทรา ชัยเทวารัณย์ ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายวิจิตร งามชื่น โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ติดตามโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งเนื้อข่าวระบุว่า ได้สั่งการให้เร่งรัดผู้รับจ้างดำเนินโครงการให้เสร็จโดยเร็ว พร้อมให้เพิ่มมาตรการให้ผู้รับจ้างจัดทำแผนการดำเนินงานก่อสร้างเป็นรายสัปดาห์ รายงานต่อคณะกรรมการตรวจรับงานและผู้ควบคุมงาน ที่ยังมีคำสั่งให้ผู้รับจ้าง เพิ่มคนงาน นำเครื่องจักรเข้าพื้นที่ เร่งทำงานในส่วนที่ค้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรและความเป็นอยู่ที่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน พร้อมทั้งได้มีการคาดโทษผู้รับจ้าง หากยังดำเนินการไม่ได้ตามเป้าหมาย จะขึ้นบัญชีห้ามเข้ายื่นประมูลงาน จนถึงขั้นการบอกเลิกสัญญาและแจ้งรายชื่อเป็นผู้ทิ้งงานของทางราชการต่อไป”
ทีมข่าวเฉพาะกิจ รายงานว่า รายละเอียดเนื้อหาข่าว ยังได้ระบุถึงคำสั่งการของ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าต้องการที่จะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในทุกกรณี ยังมีคำสั่งให้ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ และเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ โดยเร็วที่สุด ช่วงท้ายยังได้ลงรายละเอียดในการก่อสร้างโครงการระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ งบประมาณ 148 ล้านบาท มีองค์ประกอบ ได้แก่ ระบบระบายน้ำท่อกลม ขนาด 1.20 เมตร ความยาว 4,563 เมตร ระบบระบายน้ำท่อกลม ขนาด 1.50 เมตร ความยาว 1,825 เมตร ระบบระบายน้ำท่อเหลี่ยมขนาด 1.50 คูณ 1.50 เมตร ความยาว 2,270 เมตร และอาคารชลศาสตร์ จำนวน 2 แห่ง ที่หากแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 2.66 ตารางกิโลเมตร ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2566 ทีมข่าวเฉพาะกิจรายงานว่า นับจากการคาดโทษของอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ถึงปลายเดือนเมษายน 2567 ปัจจุบันโครงการนี้ ก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และยังสร้างปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนทั้งทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัย และเป็นอันตรายอย่างแสนสาหัสเช่นเดิม
ชาวบ้านเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ และได้ติดตามข่าวในเว็บไซด์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง คำถามจึงเกิดขึ้นมากมาย ว่าเมื่อไหร่จะสร้างให้เสร็จ เพราะนี่คือเงินภาษีของประชาชน สิ่งที่เสียใจปัจจุบันกลับพบว่า กรมโยธาฯ ได้ต่อสัญญาให้อีก ก่อนหน้ากรณีการต่อสัญญาเป็นเรื่องโควิด ก็พอรับได้ แต่รอบนี้บอกว่าน้ำท่วม ให้ค่าปรับเป็น 0 บาททั้งสองรอบ ก็ยังไม่เสร็จหรือจะไม่สร้าง ประชาชนรู้สึกเสียประโยชน์ ในความเห็นส่วนตัวใจจริงในมุมกลับกันหากโครงการนี้ไปตั้งอยู่หน้าบ้านของผู้รับจ้างหรือหน้ากรมโยธาฯ ก็คงดี จะได้รับรู้ว่าหากหน้าบ้านมีการเจาะถนน โดยไม่รู้ว่าวันไหนจะแล้วเสร็จจะมีความทรมานใจอย่างไร
“โอกาสยังมีที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จะบริหารจัดการโครงการนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนคนกาฬสินธุ์ ชาวบ้านก็ผ่านวิกฤติโควิดมาไม่ต่างจากผู้รับจ้างขาใหญ่ทั้งสองบริษัทนี้ แต่ทุกคนทำมาหากินด้วยความสุจริตใจ สู้แม้จะเกิดปัญหาโควิด ที่ทำให้หลายครอบครัวต้องขายบ้าน ทิ้งกิจการ บางคิดฆ่าตัวตาย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยสองมือ จึงขอให้ผู้รับจ้างและกรมโยธาฯ มีสำนึกต่อแผ่นดินไทย ขอความกรุณาเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ควรลงมาแก้ไขด้วยตนเองได้แล้วเพราะปัญหานี้ผู้รับจ้างคงเป็นขาใหญ่จริงๆ ต้องถึงมือเจ้ากระทรวง หากผู้รับจ้างรายใหม่ให้ได้ ใครมีฝีมือก็ทำไปให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีน้ำหลากเข้ามาจนเกิดน้ำท่วมอีกครั้ง จึงขอให้คืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนด้วย” ชาวบ้านเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวในที่สุด
นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น ชาวบ้าน ผู้ประกอบการผู้ได้รับผลกระทบร้องเรียน ขณะที่คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับองค์กรอิสระลงพื้นที่สอดส่องและตรวจสอบ เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น และเพื่อให้การใช้งบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชนเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ไม่ใช่นำมาละลายแม่น้ำลำพาน แม่น้ำปาว และแม่น้ำชีโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ไม่ใช่เคยอยู่กันอย่างปกติสุข ทำมาหากินอยู่ดีๆ มีใครก็ไม่รู้ เป็นผู้รับเหมาต่างบ้านต่างเมืองเข้ามาขุดๆ เจาะๆ ทำถนนและหน้าบ้านเป็นหลุมเป็นบ่อ นำเสาเข็มกองทิ้งไว้แล้วก็หนีไป เหมือนไร้ความรับผิดชอบ จึงอยากวิงวอนให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย เร่งรัดกรมโยธาฯ จัดการแก้ไขปัญหานี้ด้วย จะทำอะไรสักอย่างก็ทำ เพราะนี้ก็จะย่างเข้าสู่ปีที่ 6 แล้วที่เกิดเหตุการณ์ผู้รับเหมาทิ้งงาน