นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (แทรมภูเก็ต) ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรายละเอียดความเหมาะสมโครงการฯ ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง และปรับรูปแบบการดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่มีช่องจราจรแคบ รวมถึงแนวเส้นทางที่เป็นจุดตัดระหว่างการจราจรบนทางหลวง กับขนส่งมวลชนทางราง ตลอดจนทบทวนรูปแบบการลงทุน ระบบรถไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ และค่าโดยสารด้วย เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก่อนเริ่มดำเนินโครงการในอีก 2 ปีข้างหน้า ตามนโยบายที่มอบไว้เมื่อประมาณเดือน ก.ย. 66

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ต้องเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง (ทล.) ให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นทางเลี่ยงในช่วงที่มีการก่อสร้างแทรมภูเก็ต เพราะหากสร้างพร้อมกันทั้งถนน และรถไฟฟ้า จะยิ่งทำให้ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะบนถนนทางหลวงหมายเลข 402 ติดขัดมากขึ้น กระทบการเดินทางของประชาชน อย่างไรก็ตามการศึกษาทบทวนฯ ดังกล่าว คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 67 เบื้องต้น รฟม. มีแผนการดำเนินงานตั้งแต่ช่วงปี 68 ดังนี้ เสนอคณะทำงานตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) พ.ศ. 2562 และคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณาในเดือน ต.ค. 68-มิ.ย. 69 จากนั้นเสนอกระทรวงคมนาคม, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), คณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประมาณเดือน ก.ค. 69-ก.พ. 70

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า หากผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก ครม. จะสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ประมาณเดือน มี.ค. 70-ส.ค. 71 เริ่มก่อสร้างโครงการ เดือน ก.ย. 71-พ.ย. 74 และเปิดให้บริการได้ประมาณเดือน ธ.ค. 74 ยืนยันว่าโครงการแทรมภูเก็ต จะสามารถอนุมัติการดำเนินโครงการฯ ได้ ภายในยุคที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม และจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานของ รฟม. ที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นยังเป็นแนวเส้นทางเดิม เริ่มจากท่าอากาศยานภูเก็ต สิ้นสุดบริเวณห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งจุดที่เป็นจุดตัดผ่านแยกต่างๆ ระหว่างถนน และทางวิ่งแทรม บนถนน ทล.402 ได้ปรับรูปแบบให้เป็นอุโมงค์ทางลอด (คลองแห้ง) โดยแทรมจะวิ่งลอดใต้ถนน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และส่งผลกระทบต่อการจราจรบนทางหลวงให้น้อยที่สุด

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า อุโมงค์ทางลอดที่จะเกิดขึ้นบนถนน ทล.402 รอบนอกตัวเมืองภูเก็ต มีการออกแบบรวม 5 จุด ได้แก่ 1.บริเวณก่อนถึงโรงเรียนเมืองถลาง ความยาวประมาณ 1.10 กม., 2.บริเวณแยกมุดดอกขาว ความยาวประมาณ 1.30 กม., 3.บริเวณผ่านเขตอำเภอถลาง ความยาวประมาณ 3.25 กม., 4.บริเวณหน้าเทศบาลศรีสุนทรความยาวประมาณ 1.10 กม. และ 5.บริเวณแยกเกาะแก้ว-แยกบางคู ความยาวประมาณ 2.60 กม. สำหรับเรื่องอัตราค่าโดยสารนั้น อาจจะจัดเก็บในอัตราที่แตกต่างกัน แบ่งเป็น 1.ประชาชนในพื้นที่ ค่าโดยสารจะถูก เพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการ และ 2.นักท่องเที่ยว หรือประชาชนนอกพื้นที่ที่เดินทางมาจากสนามบินไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็จะใช้อัตราค่าโดยสารที่สูงกว่า เพื่อให้มีความสมเหตุสมผล และคุ้มค่าต่อการลงทุนโครงการฯ ส่วนจะเก็บอัตราเท่าใดอยู่ระหว่างพิจารณา

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขอเร่งดำเนินการในจังหวัดภูเก็ต และเชียงใหม่ก่อน ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี ระยะทาง 15.8 กม. อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 67 เช่นเดียวกับแทรมภูเก็ต แต่อาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เพราะเส้นทางผ่านเขตเมืองเก่า ต้องมีการสำรวจทางโบราณคดี และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ด้วย ส่วนแทรมนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ระยะทาง 11.15 กม. และแทรมพิษณุโลก สายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-เซ็นทรัลพลาซา ระยะทาง 12.6 กม. ยังไม่ได้นำมาพิจารณา.