เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 30 เม.ย.67  ณ ห้องจัดเลี้ยง 102 – 104 ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาร่วมกับสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย จัดงานสานสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทย – จีน “เจตนารมณ์และคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาตะวันออก” โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายหาน จื้อเฉียง (H.E. Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์  สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สว.ประธานคณะกรรมาธิการปกครองท้องถิ่น ในฐานะอดีตประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภา ไทย – จีน นางอภิรดี ตันตราภรณ์  สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ และการอุตสาหกรรม นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร  สว.ในฐานะรองประธานคณะกรรมการธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม และสมาชิกวุฒิสภา นางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา และผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เข้าร่วม

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวสุนทรพจน์ หัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทย-จีน ในกรอบนิติบัญญัติ” ตอนหนึ่งว่า ราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน ครอบคลุมทุกระดับและทุกมิติ นับแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2518 ไทยและจีนมีความใกล้ชิดและแน่นแฟ้นในระดับดียิ่งมาโดยตลอด ปัจจุบันทั้งสองประเทศเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านและมุ่งสู่วาระการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ในปี 2568 สำหรับความสัมพันธ์ด้านนิติบัญญัติวุฒิสภาไทยและจีนมีความใกล้ชิด และความร่วมมือกันเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และมีส่วนสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยผ่านกลไกการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภา การประชุมในองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างประธานขององค์กรนิติบัญญัติและคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐสภาทั้งสองประเทศอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ให้การต้อนรับกันเป็นอย่างดี ตลอดจนได้นำความรู้จากการเยือนและหารือทวิภาคีร่วมกัน กลับมาพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายนิติบัญญัติและต่อประเทศ

โอกาสนี้ ประธานวุฒิสภา และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามระหว่างสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย และนายหว่าง หยิ่น นักวิจัยคัมภีร์ “หวงตี้เน่ยจิง” ในการอนุญาตให้ตีพิมพ์หนังสือ “ภูมิปัญญาหวงตี้เน่ยจิง” ฉบับภาษาไทย และจำหน่ายในประเทศไทยอีกด้วย.