นาย วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เปิดเผยว่า ดีอี ได้เร่งผลักดัน การรวมบริการของภาครัฐ กับ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (ดิจิทัล ไอดี ) เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการ อี-เซอร์วิส ของภาครัฐ ในการ ทำธุรกรรมทางออนไลน์  การติดต่อราชการของประชาชน มีความสะดวกสบาย รวดเร็วและ น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ปัจจุบัน มีภาครัฐหลายหน่วยงานต่างตื่นตัว ในการพัฒนาปรับปรุงบริการ เป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ ดิจิทัลไอดี  จะช่วยเพิ่มเพิ่มความน่าเชื่อถือ และปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ ดิจิทัล ไดอี ที่มาจากหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ กรมการปกครอง ผ่านบริการที่ชื่อว่า ไทย-ดี  ที่มีคนไทยลงทะเบียนใช้งานแล้วกว่า 13 ล้านบัญชี

“ได้ตั้งเป้าหมายการผลักดันให้เกิดการใช้ ดิจิทัล ไอดี เพื่อเข้าถึงบริการ อี-เซอร์วิส ของภาครัฐ โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายให้ 50% ของบริการ อี-เซอร์วิส ของภาครัฐต้องมีการเชื่อมโยงระบบกับบริการ ดิจิทัล ไอดี  ภายในปี 67 และใช้งานทั้งหมด 100% ในปี 68 โดย  เอ็ตด้าจะ ประสาน และให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ ดิจิทัล ไอดี ในทุกภาคส่วน”

จิตสถา ศรีประเสริฐสุข

น.ส.จิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) กล่าวว่า ดิจิทัลไอดี จะเข้ามาช่วยส่งเสริมให้บริการออนไลน์ของทุกภาคส่วนเกิดระบบนิเวศการใช้งานที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ในอนาคตการใช้งาน ดิจิทัล ไอดี เพื่อเข้าสู่บริการ อี-เซอร์วิส ของภาครัฐจะแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากความสะดวก ในการใช้งานที่ไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตนซ้ำซ้อนในหลายระบบ  โดยปัจจุบันการให้บริการของภาครัฐมีจำนวนทั้งหมด 3,830 บริการ คาดการณ์ว่าสามารถพัฒนาให้เป็น อี-เซอร์วิส ได้ถึง 2,376 บริการ โดยมีบริการที่พัฒนาแล้ว 1,626 บริการ จาก 115 หน่วยงาน และยังมีอีก 750 บริการ จาก 75 หน่วยงานที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็น อี-เซอร์วิส โดยได้ตั้ง เอ็ตด้า ดิจิทัล คลินิก เพื่อให้คำปรึกษา ในเรื่อง ดิจิทัท ไอดี และ อี-เซอร์วิส กับหน่วยงานรัฐ