วันที่ 1 พ.ค. ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการจัดงานงาน Microsoft Build: AI Day โดยมี นายสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการบริหาร และ ซีอีโอของไมโครซอฟท์ มาร่วมงาน ถือเป็นการกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งในรอบ 8 ปี พร้อมกล่าวคีย์โน้ต เผยถึงโอกาสใหม่ๆ จากเทคโนโลยี เอไอ และการสานต่อความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์กับรัฐบาลไทย พร้อมพบปะกับชุมชนนักพัฒนาและผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมงาน และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บทเวทีด้วย ซึ่งมีนักพัฒนาและผู้นำจากภาคธุรกิจและเทคโนโลยีในประเทศไทยกว่า 2,000 คน เข้าร่วมงาน

นายสัตยา นาเดลลา กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพโดดเด่นและโอกาสในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและเอไอ โดยไมโครซอฟท์ได้ประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับคลาวด์และเอไอ รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้านเอไอ ล้วนเป็นแผนงานที่ต่อยอดพันธกิจของไมโครซอฟท์ เพื่อช่วยให้องค์กรไทย ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเติบโต ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย

สัตยา นาเดลลา

“ไมโครซอฟท์ได้ประกาศเป้าหมายที่จะช่วยสนับสนุนให้ประชากรกว่า 2.5 ล้านคนจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านเอไอ โดยการฝึกอบรมและมาตรการสนับสนุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาล องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ภาคเอกชน รวมถึงชุมชนและกลุ่มผู้สนใจในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม สำหรับในไทยก็มีแผนเสริมทักษะ ช่วยยกระดับความสามารถด้านเอไอให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน”

นายสัตยา นาเดลลา กล่าวต่อว่า ไมโครซอฟท์ยังคงมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการเติบโตของชุมชนนักพัฒนาในประเทศไทย ผ่านโครงการและกิจกรรมอย่าง AI Odyssey ที่มุ่งสนับสนุนให้นักพัฒนาชาวไทยกว่า 6,000 คน ยกระดับทักษะความสามารถขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ ด้วยทักษะใหม่ๆ และการรับรองจากไมโครซอฟท์

“ประเทศไทยนับว่าเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วสำหรับ GitHub แพลตฟอร์มที่มีไมโครซอฟท์เป็นเจ้าของ ออกแบบมาเพื่อรองรับนักพัฒนาทั้งในการเขียนโค้ด ประสานงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักพัฒนาในประเทศไทยรวมกว่า 900,000 รายที่ใช้งาน GitHub หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า”

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเอไอ เติบโตในไทยอย่างเต็มที่ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค รวมถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ครอบคลุมที่สุด โครงข่ายมือถือ โครงสร้างพื้นฐาน 5G และโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ และด้วยวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่ได้ประกาศเมื่อเดือน ก.พ. 67 แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลและเส้นทางที่ชัดเจนในการเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 8 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ อาหาร การบิน ยานยนต์แห่งอนาคต และการเงิน ทั้งนี้ ส่วนสําคัญของวิสัยทัศน์นี้ คือการเปลี่ยนประเทศให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคและโลก วิสัยทัศน์นี้เกี่ยวกับการดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งอนาคต และเพื่อรักษาระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัย รวมถึงพัฒนาและจัดการโครงสร้างพื้นฐาน 

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ระยะที่ 2 ช่วงปี 2567-2570 เพื่อใช้ประโยชน์จากเอไอ และการประมวลผลแบบคลาวด์ในประเทศ โดยดำเนินโครงการเสริมระบบนิเวศเอไอของไทย นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุน ซึ่งครอบคลุมมาตรการกระตุ้นการลงทุน เพื่อส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและครอบคลุมอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งหมด รวมทั้งรัฐบาลเดินหน้าสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสีเขียว

ซึ่งไทยตระหนักดีถึงความต้องการโดยตรงของภาคธุรกิจในด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับการบรรลุพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงนโยบายที่จะทำให้ครึ่งหนึ่งของการผลิตพลังงานในประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583)

นอกจากนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะจัดหากำลังการผลิตพลังงานสีเขียวใหม่มากกว่า 9 กิกะวัตต์ผ่านระบบ Utility Green Tariff ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจมั่นใจได้ว่าการลงทุนในไทยจะสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ง่าย และในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมร่วมกับบริษัทดิจิทัลชั้นนำแบบบริษัทไมโครซอฟท์ สร้างแซนด์บ็อกซ์แห่งความยั่งยืนที่มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

“ความมุ่งมั่นของไทยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย MoU ฉบับนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นและคำมั่นสัญญาจากทั้งสองฝ่ายในการบรรลุเป้าหมายนี้ในประเทศไทยด้วยกัน”

ทั้งนี้มีความยินดีที่ทราบว่าไมโครซอฟท์จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลช่วยเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา และโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมดิจิทัลและความยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างกันนี้จะนำไปสู่อนาคตร่วมกัน และทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สมบูรณ์แบบสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยรัฐบาลพร้อมรับฟังความคิด เข้าใจความต้องการ และพร้อมหาทางออกที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตในประเทศไทยต่อไป