เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ ยังคงเกาะติดปัญหาโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรวม 3 อำเภอ อ.เมือง, อ.กมลาไสย และ อ.ฆ้องชัย กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย อนุมัติงบประมาณมากกว่า 558.2 ในส่วน 8 โครงการฯ (ปี 2562-65) แต่ถูกประชาชนร้องทุกข์ก่อสร้างไม่เสร็จสักที ไม่ว่าจะเป็นการวางท่อน้ำหรือสร้างตลิ่งกันน้ำท่วม ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก หลังเป็นข่าวใหญ่ ล่าสุดนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้นำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบยืนยันมีหนังสือแจ้งเตือน “2บริษัท”ที่ประมูลงานได้มาแล้วหลายครั้งจึงเตรียมยกเลิกงานทั้ง 8 โครงการฯ พร้อมขึ้นแบล็กลิสต์ ตามระเบียบพัสดุ

ขณะเดียวกัน1 ใน8โครงการก่อสร้างฉาว คือ สร้างแนวเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลางเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมืองกาฬสินธุ์ กรมโยธาธิการฯ ได้ขยายสัญญาปี 2565 สิ้นสุดสัญญา 8 ก.ค.2567 (ขอบเขตการก่อสร้าง 39,540,000 บาท) ตอนนี้เหลือระยะเวลาในการก่อสร้างอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น ชาวบ้านแจ้งให้ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ ช่วยลงไปดู พบว่า มีเสาเข็ม กองหิน และปั้นจั่น ยังอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างริมตลิ่ง แต่ไม่มีคนเข้ามาทำงาน ก่อนหน้านี้ถนนรอบแก่งดอนกลาง ประชาชนจะมาออกกำลังกายทั้งวิ่งเดิน และปั่นจักรยานกันคึกคัก แต่สภาพปัจจุบันตอนนี้เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทิ้งระเกะระกะ ถนนบางส่วนกพังเสียหาย จำนวนคนที่เคยมาออกำลังกายจึงไม่มากเหมือนเก่า

ด้านนายชาญยุทธ โคตะนนท์ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อตรวจสอบการสอบสวน ปท.เขต 4 ประจำจ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายปฏิบัติการของคณะคธจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาโครงการฯก่อสร้างที่ยังไม่เสร็จและผู้รับเหมาทิ้งงานไปนั้นได้ความปั่นป่วนในสังคมเมืองกาฬสินธุ์ตลอดมา แม้ล่าสุดทางอธิบดีกรมโยธาฯ พยายามเข้ามาติดตามเรื่อง เตรียมแก้ไขปัญหาด้วยการยกเลิกสัญญา แต่ก็ยังไม่เห็นเป็นรายลักษณ์อักษร เพราะการยกเลิกสัญญาภาครัฐ เกี่ยวข้องกับระเบียบพัสดุปี 2560 ทางกรมโยธาฯชงเรื่องขึ้นไปหาก ปลัดกระทรวงการคลัง ไม่นำเรื่องนี้มาพิจารณาก็คงอีกหลายปีกว่าจะยกเลิกเพื่อหาผู้รับจ้างรายใหม่เข้ามาทำงาน ก็จะส่งผลทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนเหมือนเดิมต่อไป

“อย่างไรก็ดีส่วนตัวในฐานะเครือข่ายภาคประชาสังคม และเป็นข้าราชการบำนาญ ต้องขอบคุณ อธิบดีกรมโยธาธิการฯที่ให้ความสำคัญลงพื้นที่มารับฟังปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวกาฬสินธุ์ ถึงแม้เป็นเวลาสั้นๆ แต่ก็เชื่อว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ ปัญหา 7 ชั่วโคตรที่ชาวบ้านเขียนป้ายติดไว้จะได้รับการแก้ไข สำหรับส่วนของกลุ่มแรงงานหรือบุคคลที่เข้ามาทำงานกับผู้รับจ้าง แต่ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนนั้น เชื่อว่าอธิบดีกรมโยธาฯ จะมีวิธีการติดตามให้ผู้รับจ้างมาชำระค่าจ้างให้กับแรงงานที่เข้ามาทำงาน เนื่องจากดูสีหน้าของอธิบดีฯที่เข้ามาติดตามงานในวันนั้นจะเข้าใจปัญหาเห็นใจกลุ่มแรงงานที่ถูกเบี้ยวค่าจ้าง ดังนั้นขอให้ ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคลัง เร่งนำปัญหาที่ กรมโยธาธิการฯนำเสนอขึ้นไปพิจารณาเพื่อคืนความสุขให้กับชาวกาฬสินธุ์” นายชาญยุทธ กล่าว

มีรายงานว่า ชาวบ้านที่ตามข่าวยังคงวิพากษ์วิจารณ์ หากภาครัฐไม่สั่งยกเลิกสัญญาและขึ้นบัญชีดำบริษัททิ้งงานก่อสร้างในจ.กาฬสินธุ์ ทั้งที่ระดับจังหวัดยืนยันทำหนังสือแจ้งเตือนตามขั้นตอนไปแล้วหลายครั้ง ถ้าล่าช้าบริษัทฯดังกล่าวก็จะไปประมูลงานก่อสร้างจากภาครัฐในพื้นที่อื่นๆ แล้วก็จะเกิดปัญหาอีกเช่นเดิม ปัญหานี้ชาวบ้านในพื้นที่จึงอยากให้ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลังต้องรีบเข้ามาแก้ไขด่วน เพื่อให้ระบบการบริหารงบประมาณแผ่นดิน จากเงินภาษีของประชาชน สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น.