ที่ห้องประชุมสุรเกียรติ์ เสถียรไทย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ ในประเด็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐกับการถูกฟ้องคดีอาญา” เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดย ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ได้จัดเวทีเสวนาประเด็นที่น่าสนใจอยู่เป็นระยะ เนื่องจากกฎหมายมีผลกระทบต่อสังคมวงกว้างและเห็นว่ากฎหมายบางครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือดูแลปกป้องสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ แต่บางครั้งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนเกิดความกลัว หวังว่าเวทีเสวนาในวันนี้จะมีประโยชน์ และผลกระทบต่อสังคมในเชิงบวก

ทางด้าน ผศ.ดร.วรพล มาลสุขุม อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนวทาง แก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐกับการถูกฟ้องคดีอาญา โดยต้องยึดหลักความเป็นธรรมตามธรรมชาติ กล่าวคือ การพิจารณาความเป็นกลางมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 16 ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่จะต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและข้อพิพาทในแต่ละคดีเพื่อให้การพิจารณามีความเป็นกลาง การใช้มาตรา 16 ยังมีความสำคัญในพิจารณาความเป็นกลางและสร้างความเชื่อถือในระบบยุติธรรมของประชาชน โดยการให้คำสั่งที่เป็นกลางและไม่มีอคติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่สำคัญในการควบคุมการดำเนินคดีให้เป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรม

ขณะที่ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ เสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกันอย่างมีนัยสำคัญ 2 ประเด็นคือ
1. การใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกเป็นสิทธิของบุคคล แต่เมื่อมีการใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งก็อาจก่อให้เกิดคดีหมิ่นประมาท ที่มีโทษทางอาญาที่รุนแรงกว่าโทษทางแพ่ง นั่นอาจส่งผลให้บริษัทหรือบุคคลต่างๆ ใช้กฎหมายมากลั่นแกล้งได้ ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม
2. ผู้คนมักคาดหวังให้เจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่อย่างสุจริต แต่ในปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รัฐถูกกลั่นแกล้งโดยการใช้กฎหมายเสียเอง


นอกจากนี้ ยังเสนอข้อเสนอในคดีฟ้องปิดปาก โดยเน้นว่าทำสัญญาประนีประนอมอาจเป็นทางเลือกใหม่นอกจากการต่อสู้จนถึงสิ้นสุด หรือการยอมรับผิด และควรเปิดให้ถ่ายทอดสดในคดีที่มีการฟ้องปิดปากที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ

ในส่วนของ ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอแนวทาง แก้ปัญหา “เจ้าหน้าที่ของรัฐกับการถูกฟ้องคดีอาญา” ดังนี้
1.แก้ไข ป.วิ.อาญามาตรา 161/1 ให้ฟ้องใหม่ได้ หากผู้ฟ้องพบหลักฐานใหม่เพิ่มเติม
2.หากศาลเห็นว่าน่าจะเป็นกรณี 161/1 แต่จะรับไว้พิจารณา ให้โจทก์วางเงินประกันให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายและเมื่อศาลยกฟ้อง ให้จ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้นแก่จำเลยหรือตกเป็นของแผ่นดิน ห้ามคืนโจทก์ ซึ่งจะช่วยยับยั้งการฟ้องคดีในลักษณะดังกล่าวได้
3.กำหนดเวลาให้ศาลไต่สวนและพิจารณารับหรือไม่รับฟ้องโดยเร็ว
4.ให้องค์คณะพิจารณาประกอบด้วยอัยการหรือผู้พิพากษาอาวุโส ที่มีประสบการณ์วิเคราะห์ได้ว่าเป็นการฟ้องกลั่นแกล้งหรือไม่

นอกจากนี้ ศ.ดร.ทวีเกียรติ ยังยกกรณี ศาสตราจารย์กิตติคุณ พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ที่ถูกฟ้องจากบริษัทเอกชน โดยตั้งประเด็นคำถามและข้อสงสัยว่าการฟ้องไม่ได้ตั้งใจให้เกิดผลแพ้ชนะแต่อย่างใดแต่หวังผลให้เกิดขึ้นเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตัวเองหรือไม่?

ด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวถึงการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ช่วงแรกถูกเอกชนนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อฟ้องผู้บริโภคที่แสดงออกเสรีภาพของตัวเอง ในช่วงหลังก็เกิดวิวัฒนาการทางกฎหมาย เมื่อเอกชนฟ้องศาลก็จะดูว่าการกระทำดังกล่าวนั้นมีเจตนาพิเศษในการฟ้องหรือไม่ หากไม่มีก็ยกฟ้องไป แต่ก็ยังมีการใช้กฎหมายและพ.ร.บ.ต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือใช้เพื่อฟ้องผู้บริโภคที่วิพากษ์วิจารณ์เอกชน