นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2567 เท่ากับ 108.16 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเท่ากับ 107.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.19 (YoY) กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน เป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้น ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก สินค้าเกษตรหลายรายการโดยเฉพาะผักสด และผลไม้สด ออกสู่ตลาดลดลงและราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด สำหรับสินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ   

อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงร้อยละ 0.47 ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจ ที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน) 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.19 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.28 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสด (แตงกวา ถั่วฝักยาว ผักชี ผักคะน้า ผักกาดขาว ต้นหอม) ผลไม้สด (กล้วยหอม องุ่น สับปะรด) ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง อาหารบริโภคในบ้าน (กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว อาหารว่าง ข้าวแกง/ข้าวกล่อง) ตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ขณะที่ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ปลาทู น้ำมันพืช และกระเทียม เป็นต้น
  • หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.12 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์ 95 91 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95) ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน กระดาษชำระ) เนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชั่น ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (สุรา บุหรี่ ไวน์) อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เสื้อยืดบุรุษและสตรี และเสื้อเชิ้ตบุรุษและสตรี เป็นต้น