เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงปลูกข้าวโพด ข้าวเหนียวหวาน และแปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งแปลงปลูกอ้อย ของเกษตรกร หมู่บ้านคลองเดื่อ หมู่ 6 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พร้อมด้วย นายทะนงศักดิ์ สินแสนสุข กำนันตำบลหมูสี อ.ปากช่อง หลังรับการร้องเรียนจากชาวเกษตรกรจำนวนหลายราย พื้นที่หลายร้อยไร่ ว่า เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 67 ที่ผ่านมา มีฝนตกติดต่อกันลงมา จึงได้ลงทุนซื้อเมล็ดข้าวโพด และปุ๋ย หลายหมื่นบาท นำมาปรับพื้นที่ปลูกข้าวโพด และอ้อย หลังจากนั้นข้าวโพดได้งอกงาม ก็มีฝนตกลงมาบ้างเล็กน้อย พอข้าวโพดยาวประมาณ 10-15 ซม. ก็ไม่มีฝนตกลงมาอีกนานกว่า 1 เดือน และสภาพอากาศร้อน จนเผาไหม้ทำให้ข้าวโพดขาดน้ำ เหี่ยวแห้งยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก

จากการตรวจสอบ พบว่าพื้นดินแห้ง พบต้นข้าวโพดกำลังงอกงามเหี่ยวตาย รวมทั้งอ้อย หากต่อจากนี้ 20 วัน ไม่มีฝนตกลงมา คาดว่า ข้าวโพดและอ้อยรวมทั้งพืชต่างๆ ต้องยืนต้นตายเสียหายทั้งหมดอย่างแน่นอนโดย นายทะนงศักดิ์ สินแสนสุข กำนันตำบลหมูสี กล่าวว่า ลูกบ้าน บุ่งเตย คลองดินดำ เกาะแก้ว รวมทั้งหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลหมูสี ที่ปลูกข้าวโพดชุดฝนแรก ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ถ้าไม่มีฝนตกลงมาโดยเร็ว คงจะตายและความเสียหายน่าจะกว่า 7,000 ไร่

นางสาวชลธิชา กันตะวงศ์ นักวิชาการส่งเสริมเกษตรชำนาญการอำเภอปากช่อง รักษาราชการเกษตรอำเภอปากช่อง กล่าวว่า สภาวะอากาศแล้ง ปี 2567 ปีนี้ค่อนข้างรุนแรง ส่งผลต่อพืชไร่และไม้ผล โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ เกษตรกรทำการการปลูกพืชไร่ไปแล้วกว่า 33,000 ไร่ แบ่งเป็น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน หากสภาพอากาศยังคงร้อนและแห้งแล้ง คาดว่าจะเสียหายกว่า 7,000 ไร่

สำนักงานเกษตรอำเภอปากช่อง ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ยังได้ทำหนังสือแจ้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) ในการขอทำฝนหลวงเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรด้วยอีกทางหนึ่ง

ด้าน นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า สภาวะภัยแล้งเกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งในพื้นที่ถือว่าหนักมาก เนื่องจากฝนทิ้งช่วงระยะยาวนาน ทำให้แหล่งน้ำต่างๆ แห้งขอด และยังส่งผลกระทบต่อน้ำใต้ดิน น้ำบาดาล ที่ดูดขึ้นมาทำน้ำอุปโภคบริโภค ตามหมู่บ้านต่างๆ เริ่มมีผลกระทบ บาดาลดูดไม่ขึ้นไม่มีน้ำ จึงได้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 อบต. และ 5 เทศบาล ให้ช่วยประชาชนโดยบรรทุกน้ำแจกจ่ายให้กับประชาชนใช้และบริโภค จนกว่าจะมีฝนตกลงมา ส่วนด้านการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ได้ประสานไปยัง เกษตรอำเภอปากช่อง เพื่อหาแนวทางขอฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ในช่วงที่อากาศแห้งแล้ง