ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน หรือ ปรากฏการณ์พระจันทร์ยิ้ม เป็นปรากฏการณ์ที่มีลักษณะคล้ายใบหน้าคนกำลังยิ้ม โดยดาวคู่ดังกล่าว ได้แก่ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี เมื่อมองจากโลกจะอยู่ห่างกัน 2 องศา ในระยะท้องฟ้า และจะมีดวงจันทร์เสี้ยว ขึ้น 3 ค่ำ อยู่ด้านล่างระหว่างดาวทั้งสองดวง และห่างกัน 2 องศา ซึ่งสามารถสังเกตได้ในประเทศไทยครั้งล่าสุด เมื่อ 28 พฤศจิกายน​ พ.ศ. 2562

สำหรับปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนจะเกิดขึ้น 2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 10 เดือน ทุก ๆ 2 ปีครึ่ง มีลักษณะเป็นดวงดาว 3 ดวง ซึ่งได้แก่ ดาวศุกร์ (ดาวประจำเมือง) ดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์ โคจรเข้ามาใกล้กัน โดยดวงจันทร์หงายอยู่ด้านล่างของดาวอีก 2 ดวง และอยู่ในระยะที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ปรากฏการณ์นี้จะมองเห็นได้ไม่นานนัก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นช่วงเวลาหัวค่ำ เพราะดาวจะตกเร็วลับจากขอบฟ้าจากการที่โลกหมุนรอบตัวเองตลอดเวลา

ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความแจ้งข่าวดีโดยระบุว่า “หยุดยาวสามวันนี้ มีดาวเคียงเดือนยามเช้า ใครสนใจตื่นมาชมกันได้นะครับ”

– 4 พฤษภาคม 67 ดวงจันทร์เสี้ยว ปรากฏเคียงดาวเสาร์ ระยะห่างประมาณ 0.8 องศา สังเกตได้ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 03.00 น. เป็นต้นไป

– 5 พฤษภาคม 67 : ดวงจันทร์เสี้ยว ปรากฏเคียงดาวอังคาร ระยะห่างประมาณ 0.5 องศา สังเกตได้ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.50 น. เป็นต้นไป

– 6 พฤษภาคม 67 : ดวงจันทร์เสี้ยว ปรากฏเคียงดาวพุธระยะห่างประมาณ 3.5 องศา สังเกตได้ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 04.40 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, วิกิพีเดีย