หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ออกมา “ขันน็อต” สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่ง Wปราบ อาชญากรรมออนไลน์ใน 30 วัน”ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม!!

ซึ่งจากข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรี ทำให้หน่วยงานต่างๆ เร่งบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่โดยมี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เป็นแกนหลัก โดยในช่วง 30 วัน มีการประชุม คณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยีถึง 4 ครั้ง เรียกว่าประชุมกันทุกสัปดาห์!!

เวลาผ่านมาครบ 30 วันแล้ว เมื่อสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงเวลาที่ต้องตรวจการบ้านว่า มาตารการต่างๆที่ออกมาช่วยให้ปัญหาอาชญาากรรมออนไลน์ลดน้อยลงหรือไม่?

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว. ดีอี ก็ได้แถลงผลงาน “ปราบโจรออนไลน์ใน 30 วัน”โดยในส่วนการปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) ได้ จับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์ ทุกประเภท ในเดือน เม.ย. 67 ได้ทั้งสิ้น 6,458 คน  เรียกว่าเดือนเดียวเพิ่มขึ้นเกือบ  5 เท่า เมื่อเทียบกับ การจับกุม เดือน ม.ค. – มี.ค.67 มีจำนวนประมาณ 2,600 คน เฉลี่ยประมาณ 1,000 คน/เดือนเท่านั้น!!

ส่วนมูลค่าความเสียหายของคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท พบว่าลดลง ในเดือน มี.ค.67 มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 149 ล้านบาท/วัน แต่เดือน เม.ย.67 ความเสียหายเฉลี่ย 110 ล้านบาท/วัน 

ขณะที่การปิดกั้นเว็บไซต์ ผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ปิดกั้นเว็บไซต์ ผิดกฎหมายรวมทุกประเภท จำนวน 16,158 รายการ เพิ่มขึ้น 25.8 เท่าตัว เทียบกับเดือน เม.ย.66 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ ผิดกฎหมายรวมทุกประเภท 625 รายการ เท่านั้น!?!

ภาพ Pixabay.com

อย่างไรก็ตามในส่วนจอง เครื่องมือที่ใช้ในการ ยักย้ายเงินของเหยื่อ คือ “บัญชีม้า” นั้น ได้มีการเร่งรัดกวาดล้างบัญชีที่ต้องสงสัยและบัญชีม้าในระบบธนาคาร โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน เร่งทำการตรวจสอบ เหตุต้องสงสัยทั้ง 19 ข้อ และทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีต้องสงสัยระหว่างธนาคาร เพื่อระบุและทำการระงับบัญชีธนาคาร ไปแล้ว จำนวนกว่า 300,000 บัญชี

ส่วน ศูนย์ AOC 1441 ได้ระงับหรือปิดบัญชีไปแล้วจำนวน 112,699 บัญชี และ สำนักงาน ปปง. ปิดบัญชีม้า ไปแล้วจำนวน 318,298 บัญชี   รวมแล้วมีการกำจัดบัญชีม้าออกจากระบบธนาคารไปแล้วกว่า 700,000 บัญชี

นอกจากนี้ยังได้เตรียมออกมาตาการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิด

โดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงธนาคาร ต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยคาดว่าจะเริ่มภายในเดือน พ.ค.นี้

และอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการโอนเงิน คือ  “ซิมม้า” การใช้ซิมอย่างผิดกฎหมาย  ทางสำนักงาน กสทช. ได้เร่งดำเนินการระงับ 2.5 ล้านหมายเลขที่ไม่ได้มายืนยันตัวตน  ส่วน “ค่ายมือถือ” ก็ได้ ระงับเลขหมายที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้ง ต่อวัน ไปแล้วกว่า 36,641 หมายเลข และมีการประสานเพื่อระงับ ซิมม้า หรือซิมต้องสงสัยไปแล้วกว่า 800,000 หมายเลข  

ภาพ Pixabay.com

พร้อมกวดขันการเปิดซิมใหม่ต้องมีการใช้บัตรประชาชน หรือ พาสปอร์ต เพื่อยืนยันตัวให้ตรงกัน เพื่อป้องกันการนำบัตรประชาชนไป เปิดซิมจำนวนมาก พร้อมมีการจัดทำฐานข้อมูลการส่ง SMS (Sender Name) โดยเฉพาะที่มีการส่งจำนวนมากๆ สำหรับการตรวจสอบเฝ้าระวังการส่ง SMS หลอกลวง

นอกจากนี้ กสทช. ยังได้เร่งแก้ปัญหา เสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนไม่ให้ส่งสัญญาณข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านเอื้อให้แก็งคอลเซ็นเตอร์ใช้งาน พร้อมกวดขันตรวจจับผู้ตั้งเสาเถื่อนใช้งานผิดกฎหมายด้วย

พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ ศูนย์ AOC 1441 ให้เป็นแพลตฟอร์ม รับและแลกเปลี่ยนข้อมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าและบัญชีต้องสงสัย  โดยทำงานแบบอัตโนมัติ(Automation) และใช้เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) ช่วยลดเวลาและเพิ่มความแม่นยำในการระงับบัญชีม้า บัญชีต้องสงสัย รวมทั้งสนับสนุนการติดตามเส้นทางการเงินเพื่อการจับกุมและคืนผู้เสียหาย

ขณะที่กลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาก่อปัญหาอาชญากรรม ก็มีการเร่ง จับกุม ปราบปราม ชาวต่างชาติที่ อยู่ในประเทศไทยที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการชักชวน หลอกลวงคนไทยเพื่อพา ไปทำงานเป็น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน เคร่งครัดการตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก และการเข้า-ออกผ่านช่องทางธรรมชาติ รวมถึงมีการประสาน ความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามจับกุม ด้วย

ภาพ Pixabay.com

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การกำกับดูแลแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผิดกฎหมาย  เพราะจากข้อมูลของตำรวจที่สืบสวนพบว่าคนร้ายจะมีการโอนเงินจากบัญชีม้าเปลี่ยนเป็นเงินดิจิทัล จึงได้ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. ส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเป็นแพลตฟอร์มเถื่อยให้กระทรวง ดีอี เสนอต่อศาลให้มีคำสั่งปิดกั้น เพื่อป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน

นอกจากนี้จะมีการเร่งแก้กฎหมายของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

เมื่อถามถึงการดำเนินการในช่วง 30  วันที่ผ่านมามีความพอใจหรือไม่? ทาง รมว.ดีอี บอกว่า 30 วันที่ผ่านมา การบูรณาการมีผลงานที่เด่นชัด แต่ส่วนตัวยังไม่พอใจ แม้ตัวเลขความเสียหายจะมีมูลค่าลดลง แต่จำนวนผู้ได้รับความเสียหายยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องลดลง ให้ได้มากกว่า 50%  จากปัจจุบันลดลง 20% หรือต้องทำให้ปัญหาลดน้อยลงมากที่สุด!!

โดยแนวทางและมาตรการที่จะทำต่อไปคือ  ปราบปรามจับกุมอาชญากรรม ออนไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ ป้องกันการเปิดบัญชีม้า ซิมม้าและกวาดล้างจับกุมผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงแก้ปัญหาหลอกลวง ซื้อขายสินค้าบริการ ออนไลน์ ด้วยการจับมือกับ สคบ.ออกประกาศบังคับเรื่องเก็บเงินปลายทาง ไม่โอนให้ผู้ขายสินค้า ในทันที

ภาพ Pixabay.com

นอกจากนี้ในส่วนของเงินที่อายัดได้จากมิจฉาชีพ จะเร่งรัดหาวิธีคืนเงินและเยียวยาให้ผู้เสียหาย  และ การเพิ่มความรับผิดชอบ ของผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม พร้อมการณรงค์ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น!?!

ด้วยมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆที่จะออกมาในอนาคต คงต้องรอดูว่า “ศึกหนัก” ที่มีความเสียหายของประชาชนเป็นเดิมพันนี้ รัฐบาลจะจัดการได้อยู่หมัดหรือไม่!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์