เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ความคืบหน้าปัญหา 8 โครงการก่อสร้างพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ (งบประมาณ 558.2 ล้านบาท) ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ให้ประชาชน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย โครงการฯ มีมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ บางจุดทิ้งงานไม่มีการก่อสร้างมานานแล้ว จนประชาชนเดือดร้อนทนไม่ไหวร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือ เดลินิวส์ตามเกาะติดตีแผ่ปัญหาหวั่นงบประมาณแผ่นดินเสียหาย จนทำให้อธิบดีกรมโยธาฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบความจริงพบมีหนังสือเตือนแล้วหลายครั้ง จึงตัดสินใจยกเลิกสัญญา 2 บริษัทใหญ่รับเหมางาน

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่ติดตสมข่าวเรื่องนี้ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางเดลินิวส์ว่า อยากเรียกร้องให้ อธิบดีกรมโยธาฯ เปิดหลักฐานการยกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร อีกทั้งตั้งแต่เกิดปัญหา ทางผู้รับเหมาก็ไม่ได้แสดงทีท่าจะออกมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น และยังไม่ทราบด้วยว่าได้ไปรับเหมาทำงานโครงการใหญ่ๆ แบบนี้ที่จังหวัดอื่นอีกด้วยหรือไม่ จึงต้องการให้กรมโยธาฯ ตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ และจากปัญหาก่อสร้างไม่เสร็จทิ้งงานน่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในกาฬสินธุ์อย่างมาก ทั้งยังมีปัญหาในด้านความปลอดภัย สวัสดิภาพ สิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตที่ตกต่ำ ด้วยความเดือดร้อนก็อยากให้ทาง ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้รับทราบเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ รายงานผลการตรวจสอบ 8 โครงการดังกล่าวฯ ต่ออธิบดีกรมโยธาธิการฯ นั้น 8 โครงการงบประมาณรวมทั้งสิ้น 545,104,600 บาท ผู้รับจ้างมี 2 บริษัท คือ หจก.ประชาพัฒน์ ได้งาน 2 โครงการ และ หจก.เฮงนำกิจได้งาน 6 โครงการ โดยพบว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้ว 252,918,400 บาท (46.39%) ของงบประมาณทั้งหมด เหลือเพียง 292,185,600 บาทเท่านั้น 1.โครงการระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ 6 จุด งบประมาณ 148,200,000 บาท เบิกจ่าย 3 ครั้ง 80,166,000 บาท (คงเหลือ 68,034,000 บาท) 2.โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแก่งดอนกลาง ความยาว 583 เมตร งบประมาณ 39,540,000 บาท เบิกจ่าย 2 ครั้ง จำนวน 11,099,000 บาท (คงเหลือ 28,441,000 บาท) 3.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์ ความยาว 937 เมตร งบประมาณ 59,350,000 บาท เบิกจ่าย 1 ครั้ง 10,336,500 บาท (คงเหลือ 48,983,500 บาท)

4.โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะที่ 2) วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 385 เมตร งบประมาณ 59,270,000 บาท เบิกจ่าย 4 ครั้ง 33,090,500 บาท (คงเหลือ 26,179,500 บาท) 5.โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย ความยาว 423 เมตร งบประมาณ 59,306,000 บาท เบิกจ่าย 19,775,900 บาท (คงเหลือ 39,530,100 บาท) 6.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมลำน้ำพาน ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 562 เมตร งบประมาณ 44,490,000 บาท เบิกจ่าย 3 ครั้ง 13,737,500 บาท (คงเหลือ 30,752,500 บาท) 7.โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านหนองหวาย-บ้านหนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ความยาว 300 เมตร งบประมาณ 39,525,000 บาท เบิกจ่าย 3 ครั้ง 20,169,000 บาท (คงเหลือ 17,285,000 บาท) และ 8.โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำลำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ความยาว 1,141 เมตร งบประมาณ 95,423,000 บาท (เดิม 108,800,000 บาท แก้ไขแบบ ปรับลดความยาวเสาเข็ม และปรับลดราคานั่งร้าน) เบิกจ่าย 4 ครั้ง 64,544,000 บาท (คงเหลือ 30,879,000 บาท)

จากการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร รายละเอียดของโครงการ งบประมาณ การเบิกจ่าย และเงินคงเหลือ จะเห็นว่า 8 โครงการงบประมาณรวม 545,104,000 บาท เบิกจ่ายไปแล้ว 252,918,400 บาท คงเหลือ 292,185,600 บาท หรือเบิกจ่ายไปแล้ว 46.39% ของงบประมาณทั้งหมด โดย หจก.ประชาพัฒน์ ได้งาน 2 โครงการ วงเงิน 243,623,000 บาท เบิกรับไปแล้ว 144,710,000 บาท ขณะที่ หจก.เฮงนำกิจ ได้งาน 6 โครงการ วงเงิน 301,481,100 บาท เบิกรับไปแล้ว 108,208,400 บาท ถึงแม้ทั้ง 2 บริษัทฯจะได้เบิกเงินจากรัฐรวมกันไปแล้วกว่า 252 ล้านบาท แต่มีกลุ่มผู้รับเหมาช่วงและแรงงาน รวมตัวมาพบ อธิบดีกรมโยธาธิการฯ ร้องขอความช่วยเหลือเพราะไม่ได้รับเงินค่าจ้างตามงวดงานที่ทำเสร็จแล้ว ผู้รับเหมาช่วงบางคนลงทุนไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่ได้ค่าจ้าง

นายชาญยุทธ โคตะนนท์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ คณะ กธจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบและสอดส่องของ คณะ ป.ป.ท.เขต 4 ขอนแก่น ร่วมกับคณะธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ และ คณะ ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ เห็นว่าทั้ง 8 โครงการ หากเปรียบเทียบปริมาณงานที่ได้กับเม็ดเงินที่เบิกจ่ายดูจะไม่สอดคล้องกันเลย มองในเรื่องของเนื้องานจะไม่ค่อยสมน้ำสมเนื้อกับงบประมาณ อีกทั้งปริมาณสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นเสาเข็ม ก้อนหิน กองดิน รวมไปถึงผลสัมฤทธิ์จากการทำงานก็ยังค้านสายตาประชาชน จึงเตรียมยื่นเรื่องให้ สตง.กาฬสินธุ์ เข้ามาติดตามประเมินเม็ดเงินที่ลงทุนก่อสร้างไปแล้ว ว่าการเบิกจ่ายคุ้มค่ากับเนื้องานจริงหรือไม่

“เอาเฉพาะโครงการท่อประปา 148.2 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 80 ล้านบาท ตามรายงาน ผู้รับจ้างทำงานได้เพียง 2 จุด ที่ยังคงค้างอีก 4 จุดใหญ่ แต่ละจุดจะต้องวางระบบท่อเชื่อมเพื่อระบายน้ำก็ยังไม่มี อีกทั้งอาคารชลศาสตร์ 2 แห่งก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน อีกทั้งโครงการก่อสร้างตลิ่งบางจุดก็ยังไม่ได้ลงมือเลย มีเพียงการวางกองวัสดุเอาไว้เท่านั้น” นายชาญยุทธ กล่าว

นายชาญยุทธ กล่าวต่อว่า การก่อสร้างจะต้องเป็นการก่อสร้าง ไม่ใช้เป็นการซื้อวัสดุมาโชว์แล้วมีการเบิกจ่าย ชาวบ้านสงสัยและต้องการคำตอบว่าจริงอย่างที่ชาวบ้านคิดหรือไม่ ดังนั้นความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาจะต้องเกิดขึ้น เมื่ออธิบดีกรมโยธาฯ ลงมาเห็นปัญหาก็เชื่อว่าจะได้รับการแก้ไข แต่การแก้ไขก็ควรที่จะเร่งด่วน เกิดขึ้นทันทีเพื่อเรียกศรัทธาประชาชนกลับคืนมา จึงขอเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดีเอสไอ รวมถึง กมธ.การเงินการคลัง, กมธ.ปปง., กมธ.ป.ป.ช. รวมไปถึงองค์กรอิสระเข้ามาติดตามปัญหาเพื่อร่วมกันแก้ไขให้พี่น้องชาวกาฬสินธุ์ได้กินอุ่นนอนหลับจากการใช้ภาษีของประชาชน.