เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 67 นางชาดา วาทนเสรี อายุ 48 ปี เดินทางนำเอกสารเข้าขอความช่วยเหลือกับ น.ส.ธนิดา แจ้งจำรัส หรือทนายนินู กรณีนายปรีชา วาทนเสรี อายุ 46 ปี พนักงานฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตดุสิต กทม. สามีเสียชีวิต หลังมีอาการปวดหัวขั้นรุนแรงเดินไม่ได้เวียนหัวบ้านหมุน และอาเจียน เดินทางไปโรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ขอแพทย์สแกนสมองแต่ถูกปฏิเสธ ก่อนให้ยากลับบ้าน ผ่านไป 1 วัน เกิดอาการชักเกร็งหมดสติ ปัสสาวะราด ปลุกไม่ตื่น เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำตัวส่งโรงพยาบาลดังกล่าวเข้ารักษาตัว แพทย์สแกนสมอง พบว่าเลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสอง ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา

นางชาดา กล่าวทั้งน้ำตาว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. เวลาประมาณ 05.15 น. พาสามีมีอาการปวดศีรษะรุนแรงคล้ายหัวจะระเบิด และมีอาการไอ เดินทางเข้ารักษาตามสิทธิของสามีที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลชื่อดัง พอไปถึงโรงพยาบาล แพทย์ได้ฉีดยาพร้อมให้ยาทานแล้วให้กลับบ้าน วันต่อมา 7 ม.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. อาการสามีไม่ดีขึ้นมีอาการปวดศีรษะรุนแรงหนักกว่าเดิม เดินไม่ได้เวียนหัวบ้านหมุน และอาเจียน จึงกลับไปที่โรงพยาบาลที่ห้องฉุกเฉินเหมือนเดิม รอบนี้สามีขอแพทย์แอดมิตสแกนสมอง เนื่องจากมีสวัสดิการสามารถเบิกได้ตามสิทธิ แต่กลับถูกแพทย์ปฏิเสธการร้องขอ ก่อนจ่ายยาแล้วให้กลับบ้านอีก

นางชาดา กล่าวอีกว่า สามีจึงให้ตนที่รออยู่ด้านนอกไปคุยกับหมอซึ่งเป็นแพทย์หญิงที่ปฏิเสธสแกนสมองให้ ตนจึงเดินเข้าไปถามว่า “สามีเป็นอะไร” ทางแพทย์หญิงก็ชักสีหน้า แล้วไม่ตอบ จึงพาสามีกลับบ้าน ระหว่างที่กลับบ้านอาการแย่ลงเดินไม่ไหว จึงเรียกรถแท็กซี่ให้มารับหน้าห้องฉุกเฉินแล้วกลับบ้าน ระหว่างทางก็ถามสามีว่าหมอบอกว่าอะไร สาเหตุที่ไม่ให้สแกนสมอง สามีบอกว่า หมอบอกมาว่าไม่มีอะไรบ่งชี้ให้สแกนสมอง หลังกลับบ้านตนก็ดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดให้กินยาแล้วก็นอนพัก จากนั้นเวลาประมาณ 22.00 น. สามีมีอาการชักเกร็ง น้ำลายฟูมปาก ปัสสาวะราด ปลุกไม่ตื่น จึงโทรฯ หารถกู้ภัยมารับไปส่งโรงพยาบาล แอดมิตอยู่โรงพยาบาลประมาณ 3 วัน ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 10 ม.ค.

นางชาดา กล่าวว่า ข้องใจว่าก่อนหน้านี้สามีเคยขอสแกนสมองแล้วแต่แพทย์ไม่ยอมสแกนสมองให้ กระทั่งสามีอาการหนักไม่รู้สึกตัว หมอจึงยอมสแกนสมองให้ และวินิจฉัยว่ามีเลือดออกในสมอง สมองบวม หากหมอสแกนสมอง และให้รักษาก่อนหน้านี้ สามีก็คงไม่เสียชีวิต หลังจากสามีเสียชีวิตตนมีความคาใจจึงเข้าไปสอบถามทางคุณหมอว่าทำไมไม่ยอมสแกนสมองตั้งแต่แรก แต่กลับไม่ได้คำตอบอะไรจากโรงพยาบาลหรือคุณหมอเลย ซึ่งย้อนกลับไประหว่างที่สามีตนแอดมิตอยู่โรงพยาบาล ตนไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับสามีเลยไม่มีโอกาสได้บอกลากันเพราะไม่รู้สึกตัวอะไรแล้ว

นางชาดา กล่าวว่า ตอนนั้นเสียใจมากเพราะสามีเป็นเสาหลักของครอบครัวเลี้ยงดูแลครอบครัวมาโดยตลอด ไม่น่ามาเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น หลังจากสามีจากไปทุกวันนี้ก็ลำบาก ถูกที่ทำงานจ้างออกช่วงยุคโควิดระบาด วันนี้จึงเดินทางนำเรื่องมาร้องเรียนกับทนายนินู เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับสามี ซึ่งหลังจากเกิดเหตุไม่รู้ว่าจะดำเนินการยังไง ไม่รู้เรื่องกฎหมาย เคยโพสต์เรื่องราวบนเฟซบุ๊กมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า กระทั่งส่งข้อมูลเอกสารขอความช่วยเหลือกับทนายนินูให้คำปรึกษาและเข้าช่วยเหลือ ตอนนี้รู้สึกมีกำลังใจสู้ต่อทวงความยุติธรรมให้กับสามี และจะนำเรื่องราวเหตุการณ์ครั้งนี้มาเป็นอุทาหรณ์ให้กับประชาชน หรือทางโรงพยาบาลได้รับรู้ควรจะปรับปรุงแก้ไข และช่วยเหลือเยียวยาทางครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างไร หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่พาสามีมารักษาที่โรงพยาบาลนี้เด็ดขาด ส่วนหลังจากนี้จะให้ทางทนายนินูดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับครอบครัวไหนอีก

ทนายนินู กล่าวว่า เรื่องนี้ได้รับการร้องเรียนมาซักระยะหนึ่งแล้ว ระหว่างนั้นได้รวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าหมอทุกคนอยากจะรักษาคนไข้ทุกคนอยู่แล้ว แต่ก็จะมีบางครั้งที่อาจประมาทเลินเล่อไปทำให้ผู้เสียหายต้องเกิดความสูญเสียเกิดขึ้น ซึ่งที่ดูจากเอกสารก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ป่วยมีอาการปวดหัวขั้นรุนแรง วันแรกไม่หายวันที่สองก็ยังไม่หายหมอควรจะเอะใจได้แล้ว ว่าอาการหนักขึ้นควรจะมีการรักษาที่ถี่ถ้วนและละเอียดรอบคอบ ในจรรยาบรรณของคนเป็นแพทย์บุคคลที่ป่วยไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าตัวเองนั้นเป็นโรคอะไร ก็ต้องควรจะอธิบายให้ญาติผู้ป่วยหรือผู้ป่วยนั้นรับทราบว่ากำลังป่วยเป็นโรคอะไรและจะมีแนวทางการรักษาอย่างไรต่อ ไม่ใช่ชักสีหน้าเพื่อให้จบไปที แล้วเคสนี้เป็นเคสที่เกิดการสูญเสีย เบื้องต้นตนได้ทำเอกสารเพื่อร้องเรียนให้ทางแพทยสภาได้ตรวจสอบจรรยาบรรณของแพทย์ผู้ให้การรักษาในครั้งนี้

หลังจากได้ทำการร้องเรียนและตรวจสอบจรรยาบรรณของแพทย์แล้ว จรรยาบรรณของแพทย์ควรที่จะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยโดยเฉพาะในเรื่องของให้การสื่อสารกับญาติเพื่อให้ญาติได้รับรู้รับทราบว่าผู้ป่วยนั้นกำลังป่วยเป็นอะไรอยู่ ในเคสนี้เป็นเคสที่เรียกว่าประมาทได้เลยเพราะว่าแพทย์ได้ทำการปล่อยผู้ป่วยกลับบ้านมาถึงสองครั้ง จนผู้ป่วยได้เสียชีวิต อาจจะเข้าข้อกฎหมายประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แล้วทางนี้ทางแพทย์จะสามารถชดเชยค่าเสียหายในทางละเมิดให้กับญาติผู้ตายอย่างไรได้บ้าง หลังจากนี้ตนก็จะดำเนินการไปตามลำดับของกฎหมายต่อไป