ถือเป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อพี่น้องเกษตรกรไทย สำหรับ “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 10 พ.ค. 2567 ซึ่งในพิธีดังกล่าว สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ “พระโค” โดยในทางศาสนาพราหมณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแลซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์
สำหรับการเลือกพระโคนั้น ตามหลักเกณฑ์ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 ซม. ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 ซม.ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 ซม. โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม
โดยในปีนี้ยังคงใช้พระโคที่ได้ทำการคัดเลือกมาในปีพ.ศ.2565 เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2 คู่ เป็นพระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ คือ พระโคพอ และ พระโคเพียง
-พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 12 ปี
-พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 12 ปี
ส่วนพระโคสำรอง 1 คู่ คือ พระโคเพิ่ม และ พระโคพูล
-พระโคเพิ่ม มีความสูง 162 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 236 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 201 เซนติเมตร อายุ 14 ปี
-พระโคพูล มีความสูง 157 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 242 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 205 เซนติเมตร อายุ 14 ปี
ทั้งนี้ สำหรับ “งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล และบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย ซึ่งเป็นระยะที่เกษตรจะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้ โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 10 พ.ค. 2567..
ขอบคุณข้อมูลจาก @กระทรวงเกษตรและสหกรณ์