ข่าวดีของประเทศไทยด้านการศึกษา ระดับอุดมศึกษา เมื่อผลของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกใน THE (Times Higher Education) Impact Rankings 2021 ที่ใช้วัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยทั่วโลกในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติปรากฎว่ามหาวิทยาลัยในกลุ่ม มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) 4 แห่ง ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับโลก คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย มหาวิทยาลัยนครราชสีมา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มรภ.เชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 801-1,000 มีความโดดเด่นด้าน SDG 8 คืองานที่มีค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG 7 คือ พลังงานสะอาดและการเข้าถึง SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษา , มรภ.เลย อยู่อันดับที่ 1001+ มีความโดดเด่นด้าน SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษา SDG 5 คือ ความเท่าเทียมทางเพศ และ SDG 1 คือ การขจัดความยากจน, มรภ.นครราชสีมา อยู่อันดับที่ 1001+ มีความโดดเด่นด้าน SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษา SDG 15 คือ ระบบนิเวศทางบก และ SDG 1 คือ การขจัดความยากจน ,มรภ.สุราษฎร์ธานี อยู่อันดับที่ 1001+ มีความโดดเด่นด้าน SDG 1 การขจัดความยากจน SDG 16 คือ สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง และ SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษา ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 มรภ. ที่ติดอันดับ impact ranking จะเน้นการดำเนินงานด้าน SDG 4 คือ คุณภาพทางการศึกษาทุกแห่ง รองลงมาคือการแก้ปัญหาความยากจน SDG 1 คือ การขจัดความยากจนโดย มรภ. เชียงใหม่ ที่มีอันดับสูงที่สุดในประเทศไทยในกลุ่ม มรภ. ก็เน้นเรื่องของ SDG 8 คืองานที่มีค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งจะเห็นได้ว่า กลุ่ม มรภ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่และชุมชน ทั้งด้านการแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา และการเติบโตทางเศรษฐกิจ สามารถนำมาสู่การจัดอันดับระดับโลก ในตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับ SDGs

ผลของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกใน THE (Times Higher Education) Impact Rankings 2021 ในปีนี้ชี้ให้เห็นชัดว่ามหาวิทยาลัยของไทยจำนวนมากได้สร้างกำลังคน วิจัยเพื่อผลิตผลงานวิชาการ รวมทั้งการรับใช้สังคมที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลกใน 17 เป้าหมายซึ่งสหประชาชาติเป็นผู้กำหนด และตอบโจทย์ของประเทศ ตลอดจนประชาชน ท้องถิ่น ไปด้วยกัน โดยที่น่ายินดีอีกอย่างหนึ่งคือ มีมหาวิทยาลัยราชภัฏที่ทำงานตอบโจทย์ท้องถิ่นก็ติดอันดับหลายมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้การพัฒนามหาวิทยาลัยตามความศักยภาพและเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย หรือ Reinventing University ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ที่ต้องการยกระดับมหาวิทยาลัยตามความเชี่ยวชาญ ทั้งในเรื่องของการสร้างและพัฒนากำลังคน สร้างงานวิจัย การบริการวิชาการและรับใช้สังคม อันจะนำไปสู่ทั้งความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยและการตอบโจทย์ประเทศโดยยึดเป้าหมายของประเทศเป็นตัวตั้ง

ในเรื่องดังกล่าว ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.กล่าวว่า จะทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยของไทยมีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อยกระดับ Ranking ของมหาวิทยาลัยไทยในระดับโลก เพราะ Ranking ของมหาวิทยาลัยถือเป็นดัชนีชี้วัดประเทศที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจลงทุนจากต่างประเทศ เมื่อมีมหาวิทยาลัยและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่มีคุณภาพ และการยกระดับ Ranking ต้องสะท้อนความเป็นจริงและต้องเป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยด้วย ไม่ใช่การทำ Ranking เพื่อให้มหาวิทยาลัยดูดีในสายตาคนนอกเท่านั้น และขอให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งได้รับทราบถึงสถานะว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเลือกเน้นเรื่องอะไร ทำอย่างไร และได้ผลเป็นอย่างไร โดยให้มีการรายงานผลทุก ๆ 3 ดือน และให้ทุกมหาวิทยาลัยได้มีส่วนร่วมรับทราบผลการดำเนินงานด้วย

ด้าน ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย คณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัยลักษณะนี้ เป็นการเน้นให้มหาวิทยาลัยทำงานที่ตอบเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ และจะทำให้มหาวิทยาลัยมีอันดับที่ดีขึ้นพร้อมกับสามารถขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป

รศ.ดร.ชาตรี มณีโกศล รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.เชียงใหม่ ซึ่งติดอันดับ Impact Ranking ที่มีอันดับสูงสุดของประเทศไทยในกลุ่ม มรภ.กล่าวว่า มรภ.เชียงใหม่ ให้ความสำคัญกับการบูรณาการต่างๆ เพื่อ การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่น 3 ประการ คือ 1.การมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 2.การพัฒนาทางด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ และ 3.การจัดการทางด้านพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด หลังจากนี้ จะนำไปกำหนดเป็นแผนการดำเนินงานผ่านโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เพื่อนำ มรภ.เชียงใหม่ให้ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตลอดชีวิต ภายใต้กระบวนการพัฒนา 4 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต ด้านการศึกษาทุกช่วงวัย และด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs Goal) โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัย และสร้างเครือข่ายหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และความร่วมมือทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ