จากรายงานแนวโน้มความต้องการทองคำหรือ Gold Demand Trends จากสภาทองคำโลก (World Gold Council) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 พบว่าความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสำหรับการลงทุนของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566

ส่วนความต้องการทองคำผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่าราคาทองคำได้พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสที่ผ่านมา

ในขณะที่ปริมาณความต้องการทองคำทั่วโลกที่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter หรือ OTC) ได้เพิ่มขึ้น 3% อยู่ที่จำนวน 1,238 ตัน ซึ่งถือเป็นไตรมาสแรกของปีที่เติบโตแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ด้านความต้องการทองคำทั่วโลกที่ไม่รวมตลาด OTC ได้ลดลง 5% อยู่ที่จำนวน 1,102 ตัน สำหรับไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

ปริมาณความต้องการทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก มีสาเหตุหลักมาจากการลงทุนที่แข็งแกร่งของตลาด OTC รวมถึงการซื้อทองคำของธนาคารกลางที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง และความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้ซื้อในภูมิภาคเอเชีย ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้ราคาทองคำทำสถิติเฉลี่ยรายไตรมาสสูงขึ้นอยู่ที่ 2,070 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้

ธนาคารกลางต่าง ๆ ยังคงซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง จากสถิติอย่างเป็นทางการธนาคารกลางทั่วโลก ได้ถือครองทองคำเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 290 ตัน ในไตรมาสนี้ การซื้อที่คงที่ สม่ำเสมอ และเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ได้เน้นย้ำความสำคัญของทองคำในพอร์ตการลงทุนของทุนสำรองระหว่างประเทศ ท่ามกลางสภาวะความผันผวนของตลาดและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น

ด้านสถานการณ์ของทองคำสำหรับการลงทุน พบว่าปริมาณการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา และยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 อยู่ที่ปริมาณ 312 ตัน

สำหรับประเทศไทยมีปริมาณการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับปีแล้ว ที่จำนวน 5.9 ตัน โดยราคาทองคำในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าอัตราในต่างประเทศ เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

ปริมาณความต้องการในตลาดทองคำเครื่องประดับทั่วโลกยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าราคาทองคำได้เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม โดยได้ลดลงเพียง 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ความต้องการทองคำในทวีปเอเชียได้ช่วยพยุงปริมาณที่ปรับลดลงในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือไว้ ปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับของทั้งประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ต่างลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยประเทศไทยมีความต้องการลดลง 10% อยู่ที่ 1.9 ตัน เวียดนามลดลง 10% เป็น 4.1 ตัน และอินโดนีเซียลดลง 12% อยู่ที่ 5.5 ตัน เนื่องจากราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ซึ่งทำให้ความต้องการในภูมิภาคลดลง

“เซาไก ฟาน” หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางทั่วโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า แม้ว่าราคาทองคำได้เพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกัน ในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดทองคำเครื่องประดับ แต่ความต้องการทองคำผู้บริโภคโดยรวมในประเทศไทยก็ยังคงเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่เพิ่มมากขึ้น พบว่าปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับในประเทศไทย ปรับลดลงในช่วงที่ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การรีไซเคิลทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย

“หลุยส์ สตรีท” นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก มีความเห็นว่า ปัจจัยหลายประการอยู่เบื้องหลังการพุ่งขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยังคงมีอยู่ ผลักดันให้ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงความต้องการทองคำจากธนาคารกลางที่ยืนหยัดอย่างต่อเนื่องและมั่นคง การลงทุนในตลาด OTC ที่แข็งแกร่ง และการซื้อสุทธิที่เพิ่มขึ้นในตลาดอนุพันธ์ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2567 มีแนวโน้มที่ทองคำจะสร้างผลตอบแทนแข็งแกร่งกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อตอนต้นปี จากผลการดำเนินงานที่ดีในช่วงที่ผ่านมา หากระดับราคาลดต่ำลงในช่วงเดือนต่อจากนี้ผู้ซื้อที่อ่อนไหวต่อราคาบางรายอาจกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง และนักลงทุนจะยังคงมองหาทองคำเพื่อเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยต่อไป ในช่วงที่พวกเขาต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ยและผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

ที่มา : สภาทองคำโลก