จากกรณีข่าวการขุดค้นพบวัตถุทางโบราณคดี ซึ่งพบพระพุทธรูปขนาดใหญ่ บริเวณกลางแม่น้ำโขง อำเภอต้นพิง จังหวัดบ่อแก้ว ประเทศลาว ซึ่งตรงกันข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย คาดว่าอาจจะมาจากวัดสำคัญที่ถูกแม่น้ำโขงพัดหายไป ต่อมากลายเป็นดราม่าหลายคนมองว่าไม่ใช่กสนขุดพบใหม่ เพราะพระพุทธรูปยังใหม่ และงดงามเกินจะเป็นของเก่าที่จมน้ำสูญหายนานขนาดนี้
ล่าสุดวันที่ 19 พ.ค. 67 ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แสดงความเห็นต่อเรื่องราวดังกล่าว หลังมีคนถกเถียงประเด็นพระเก่าพระใหม่ จนเกิดดราม่าเหยียดเพื่อนบ้าน
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ ระบุว่า อย่าดราม่าจนเลยเถิด เห็นดราม่าในสื่อหลักบางสำนักและสื่อโซเชียลเกี่ยวกับพระพุทธรูปที่พบใต้หาดของแม่น้ำโขงฝั่งเมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว ตรงข้ามกับอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายแล้ว ผมรู้สึกเป็นห่วงมาก ๆ โดยเฉพาะมิติความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับเพื่อนบ้านที่ดิ่งลงเหว แม้ไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ แต่ผมก็อยากเสนอข้อมูลเท่าที่พอรู้และความเห็น เผื่อว่าจะทำให้คนไทยบางพวกมีสติ ไม่แสดงความเห็นเลยเถิดไปมากกว่านี้
ประเด็นที่หนึ่ง พระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์ล่าสุดพร้อมฐานพระที่มีสภาพสมบูรณ์จากหาดทรายกลางแม่น้ำโขงฝั่งเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว งดงามมากครับ ถือว่าเป็นประติมากรรมรูปเคารพชิ้นเอกชิ้นหนึ่งได้
ในเชิงศิลปะ นี่คือพระสมณโคดม ปางมารวิชัยเป็นศิลปะล้านนาสกุลช่างเทิง-เชียงราย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 มีลักษณะร่วมกับพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง เห็นได้จากพระพักตร์เสี้ยม เม็ดพระศกเล็ก มีไรพระศก ที่สำคัญ ช่างมีเทคนิคการหล่อโลหะต่างสีมาประกอบเข้าด้วยกันอย่างบรรจง ซึ่งไม่พบในศิลปะสกุลช่างอื่น ๆ
ประเด็นที่สอง พระใหม่หรือพระเก่า?
ผมไม่รู้ว่าคนที่บอกว่าพระที่พบอายุไม่เกิน 200 ปี ไม่เกิน 50 ปี หรือพระทำใหม่ เอาอะไรมาพูด แต่หากดูบริบทที่แวดล้อม นอกจากพระองค์นี้เป็นประติมากรรมพระพุทธรูปอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ดังที่กล่าวไปแล้ว นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ระบุว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ ที่พบก่อนหน้านี้ก็มีทั้งศิลปะล้านนา ศิลปะล้านนาสกุลช่างเชียงราย-เทิงที่ผสมศิลปะล้านช้าง และศิลปะล้านช้าง
ขณะที่เสาวิหารประดับลวดลายแบบล้านนาและจีนที่กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่21 ศิลปะเหล่านี้สอดคล้องกันทั้งหมด ขณะที่พระทำใหม่หรือพระไม่เกิน 200 ปี ไม่มีศิลปะแบบนี้ครับ เพราะฝีมือเชิงช่างไม่มีทางที่จะทำได้
สำหรับพวกที่ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นพระถอดพิมพ์ ผมก็มีคำถามกลับว่า ใช้พระองค์ไหนมาถอดพิมพ์? หาช่างหล่อที่ไหนมาถอดพิมพ์? และมีโรงหล่อไหนในโลกนี้ที่จะหล่อได้งดงามแบบนี้? ช่วยหาช่างที่มีฝีมือเชิงช่างชั้นครูแบบนี้และโรงหล่อที่หล่อพระได้งดงามแบบนี้มาให้ได้ก่อนครับ ถ้าหาได้ก็ต้องยกให้เป็นเทพของช่างหล่อในยุคปัจจุบันได้เลยครับ
ส่วนที่บอกว่าทำขึ้นมาแล้วไปฝังทรายเพื่อสร้างกระแส ก็มีคำถามว่าคุ้มไหมที่จะทำแบบนั้น พระสำริดขนาดใหญ่นะครับ ไม่ใช่พระทองเหลืององค์เล็ก ๆ การสร้างต้องลงทุนมหาศาลมาก ไหนจะค่าช่าง ค่าโรงหล่อ ค่าโลหะ ถ้าจะทำแบบที่กล่าวหา เขาก็คงลงทุนทำกันแค่หล่อทองเหลืองเท่านั้น ไม่มีใครบ้าที่จะหล่อสำริดแบบนี้หรอกครับ
อ่าน ลาว ขุดพบพระพุทธรูป ยุค 1,000 ปีก่อน กลางแม่น้ำโขง ตรงข้ามเชียงแสน
อ่าน ไม่ควรเป็นของใหม่ ‘กรกิจ’ เผยพระพุทธรูปที่ลาวขุดพบ ชี้จุดสังเกตฝีมือช่างพิสดารเกินปัจจุบัน
ที่สำคัญอีกประการ หากซูมองค์พระดูจะพบคราบแคลเซียมบริเวณพระชานุ (เข่า) และอีกหลาย ๆ จุด ขององค์พระ คราบแคลเซียมนี่แหละครับที่ใช้พิจารณาความเป็นพระเก่ากับพระทำใหม่ ถ้าไม่เก่า ไม่มีคราบแคลเซียมครับ
สำหรับผมเมื่อพิจารณาจากศิลปะ บริบทแวดล้อม และคราบแคลเซียม ฟันธงได้เลยครับว่าพระองค์นี้เป็นพระเก่า
ประเด็นที่สาม สำริดจมน้ำนานเนื้อจะเปื่อยยุ่ยจริงหรือ?
มีคนอ้างตัวว่าเป็นนักโลหะวิทยามือฉมัง เป็นศิษย์เอกเทพเจ้าแห่งวิชาโลหะวิทยาเมืองไทย ที่เป็นผู้แปลและแต่งตำราโลหะวิทยาคนแรกของประเทศไทย บอกว่าหากสำริดจมน้ำไม่ถึง 100 ปี ก็จะยุ่ย ผุ กร่อน ทะลุจนพรุนไปหมด ไม่มีเหลือเป็นองค์พระพุทธรูปสมบูรณ์แบบอย่างที่ขุดเจอ
ประเด็นนี้คนฟังถ้าไม่คิดก็คงคล้อยตามทันที แต่ผมตอบได้เลยว่าไม่จริงเสมอไป ประติมากรรมสำริดที่อยู่ใต้ดิน มีความชื่นสูง ฝนตกทุกปี อายุนับพันปี ที่ขุดพบในประเทศไทย ตั้งแต่ยุคทวารวดีมา ก็ยังสมบูรณ์เต็มไปหมด หรือแม้แต่ที่อยู่ในโคลนที่มีน้ำก็ยังสมบูรณ์ เช่นที่สำนักข่าว BBC รายงานข่าวเมื่อ 9 November 2022 สรุปได้ว่า นักโบราณคดีชาวอิตาลีค้นพบประติมากรรมสำริด 24 ชิ้น ซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุย้อนกลับไปถึงสมัยโรมันโบราณ
ประติมากรรมเหล่านี้ถูกค้นพบใต้ซากปรักหักพังที่เต็มไปด้วยโคลนของห้องอาบน้ำโบราณในซาน กัสเชียโน เดย บาญญี เมืองบนยอดเขาในแคว้นเซียนา ห่างจากกรุงโรมไปทางเหนือประมาณ 160 กม. มีอายุประมาณ 2,300 ปี โดยเป็นประติมากรรมเทพีไฮเจีย เทพเจ้าอพอลโล และเทพเจ้ากรีก-โรมันอื่น ๆ
รูปปั้นส่วนใหญ่ซึ่งพบจมอยู่ใต้น้ำใต้ห้องอาบน้ำพร้อมกับเหรียญทองแดง เงิน และเหรียญทองประมาณ 6,000 เหรียญ มีอายุระหว่างศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 1 (ดูภาพสุดท้ายประกอบ และหากใครที่อยากอ่านเพิ่มเติมดูลิงค์ข้างล่างในช่องคอมเมนท์ได้ครับ)
ผมเชื่อว่าการที่ประติมากรรมเหล่านี้ไม่เปื่อยยุ่ย เช่นเดียวกับพระพุทธรูปที่ค้นพบในหาดทรายแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว เพราะช่างผสมโลหะสำริดที่ลงตัวและทนทานมาก ซึ่งช่างกลโรงงานหรือนักโลหะวิทยามือฉมังในยุคปัจจุบันไม่สามารถทำได้หรอกครับ เพราะความรู้ไม่ถึง
ประเด็นที่สี่ ไทยดราม่าจนเลยเถิด
กรณีพบพระพุทธรูปครั้งนี้ สำหรับคนลาวและสื่อโซเชียลของลาวส่วนใหญ่เขาก็มีความปลื้มปิติยินดี ขณะที่สื่อไทยและสื่อโซเชียลไทยก็สนใจประเด็นนี้มาก แต่ที่น่าห่วงก็คือ ตอนนี้ประเด็นในโซเชียลของไทยมันไปไกลจนถึงขั้นเหยียดคนลาวอย่างหนัก บางคนที่อ้างตัวว่าเป็นนักโลหะวิทยาตัวยงนำพระพุทธรูปที่พบเหยียดไปถึงเพศสตรีและ LGBTQ ด้วย
ตอนนี้ประเด็นอายุพระไม่สำคัญแล้วหละ เพราะเรื่องอายุถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของคนไทยบางกลุ่มเหยียดเพื่อนบ้านอย่างจงใจ
อ่านความเห็นคนไทยในโลกโซเชียลแล้ว น่าเศร้ามาก และทำให้มีคำถามว่า คนไทยบางจำพวกทำไมถึงมีกมลสันดาน (habitus) แบบนี้? บทเรียนเกี่ยวกับเพื่อนบ้านที่ผ่านมามีมากมาย ทำไมจึงไม่เรียนรู้บ้างว่าจะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างอารยชนอย่างไร
สำหรับผม พฤติกรรมเหล่านี้ใครไม่อาย แต่ผมอายแทนคนไทยมาก และอยากขอโทษเพื่อนมิตรชาวลาวที่ประเทศไทยมีคนจำพวกนี้
อย่างไรก็ตามเมื่อโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปบนโลกออนไลน์ ด้านความเห็นชาวเน็ตต่างพากันเข้ามาคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์กันล้นหลาม อาทิ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : Chainarong Setthachua