ไม่นานมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยผลที่ได้จากการสำรวจระดับชาติว่า 1 ใน 10 ของคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่น (เป็นผู้หญิงเสียส่วนใหญ่) เคยโดนลูบคลำบนรถไฟโดยสารและในสถานที่สาธารณะอื่นๆ กลายเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาอาชญากรรมด้านการล่วงละเมิดที่แทบไม่มีการแจ้งความซึ่งแพร่ระบาดในประเทศมายาวนาน แม้ว่าทางการจะพยายามแก้ไขมาโดยตลอด

กลุ่มคนลามกหรือพวกโรคจิตที่ชอบลวนลามคนอื่นในที่สาธารณะ โดยเฉพาะบนรถไฟโดยสารช่วงที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่นนี้ เรียกว่า “จิกัง” (Chikan) มักมีกลุ่มเป้าหมายเป็นหญิงสาวและเด็กสาววัยรุ่น 

ในการทำแบบสำรวจทั่วประเทศที่มีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 36,000 คน อายุระหว่าง 16-29 ปี จัดทำโดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า 10.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาเคยโดนลูบคลำร่างกายหรือโดนทำอนาจารอื่นๆ ในที่สาธารณะ

ในจำนวนของผู้ที่เคยโดนลวนลามในที่สาธารณะนี้ มีผู้เสียหายเป็นเพศหญิงเกือบ 90% และจำนวน 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า การลวนลามเกิดขึ้นบนรถไฟโดยสาร ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามในจำนวนที่ใกล้เคียงกันบอกว่า เหตุการณ์ล่วงละเมิดเกิดขึ้นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้าหรือตอนเย็น

ผู้ตอบแบบสอบถามหลายคนยังกล่าวอีกว่าพวกเขาโดนลูบคลำหลายครั้ง โดยมีคนหนึ่งบอกว่าโดนล่วงละเมิด “เกือบทุกวัน” ขณะที่ยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ทางการญี่ปุ่นพยายามจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2000 เมืองใหญ่หลายแห่งของญี่ปุ่น เช่น โตเกียว จัดให้มีตู้โดยสารรถไฟที่รับเฉพาะผู้โดยสารหญิงเท่านั้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นได้จัดให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดมากขึ้นบนรถไฟโดยสารและในสถานี เพิ่มการลาดตระเวนโดยตำรวจขนส่งทั้งในและนอกเครื่องแบบ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายหมึกปั๊มล่องหนให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อประทับตราพวกลามกที่มาแตะต้องเนื้อตัว รวมถึงเปิดแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือที่จะมีแผนที่ระบุจุดที่เกิดเหตุลวนลาม

กระนั้น กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามบางคนก็ยังคงเรียกร้องให้ทางการมีมาตรการที่แก้ไขปัญหาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ, ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ของสาธารณชน เพื่อไม่ให้เหยื่อถูกละเลย

ทางการญี่ปุ่นจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็น “จิกัง” ได้เกือบ 2,000 คนทั่วประเทศในปี 2566 แต่ยังมีการกระทำผิดอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีผู้แจ้งความ 

จำนวน 80% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เคยโดนลวนลามกล่าวว่า พวกเขาไม่ได้แจ้งความ โดยหลายคนบอกว่าพวกเขาไม่มั่นใจว่าเป็นการกระทำผิดจริง ๆ หรือไม่คิดว่ามันคุ้มค่าที่จะแจ้งความ ขณะที่ทางการญี่ปุ่นพยายามกระตุ้นเตือนให้ผู้เสียหายรายงานการกระทำและถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง

คนที่เคยตกเป็นเหยื่อของพวกโรคจิตชอบลูบคลำจำนวนมากกลัวว่าการแจ้งความจะสร้างปัญหาแก่เพื่อนร่วมงานหรือเจ้าหน้าที่ของทางโรงเรียน รวมถึงรู้สึกท้อแท้เมื่อรับรู้ถึงกระบวนการทำงานของตำรวจที่มักยืดเยื้อในกรณีของอาชญากรรมที่ยากต่อการพิสูจน์และผู้กระทำผิดมักจะได้รับการลงโทษสถานเบา

ที่มา : edition.cnn.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES