“…ถ้าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับ เพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง…” …เป็นความสำคัญตอนหนึ่งจาก “พระราชดำรัส” ของ “พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์” เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ในโอกาสที่พระราชทานพระราชวโรกาสให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต กราบบังคมทูล เชิญ “เสด็จขึ้นทรงราชย์” ทั้งนี้ จากพระราชดำรัส “…เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง…” นั้น ฉายชัดถึงพระเมตตาล้นพ้นที่ทรงมีต่อปวงไทย…

‘ถวายราชสดุดี’ ๗๒ พรรษา เทิดองค์ราชา ‘ทรงพระเจริญ’ (๑)

‘ถวายราชสดุดี’ ๗๒ พรรษา เทิดองค์ราชา ‘ทรงพระเจริญ’ (๒)

ด้วยหลักที่สำคัญตามโบราณราชประเพณี กฎมณเฑียรบาล รัฐธรรมนูญ และคตินิยมในนานาประเทศ คือ… “ราชอาณาจักรย่อมไม่ว่างเว้นขาดตอนจากการมีพระมหากษัตริย์” รัชสมัยแห่งรัชกาลที่ 10 ราชวงศ์จักรี เริ่มต้นขึ้นนับแต่ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยในชั้นต้นพระองค์ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า… “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” หากแต่สำหรับกระบวนการกฎหมายในการเสด็จขึ้นสืบราชสมบัตินั้น ทรงมีรับสั่งความสำคัญว่า… ทรงขอให้รอเวลา และทรงยืนยันว่าทรงตระหนักในหน้าที่องค์รัชทายาทในส่วนของพระราชภารกิจต่าง ๆ ซึ่งจะทรงปฏิบัติในฐานะ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ไปก่อน จนกว่าจะถึงเวลาอันเหมาะสม

ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดมหาศุภมงคลการ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” และ “พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร” ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 2 ถึงวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยการพระราชพิธีส่วนหลักมีขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม ทั้งนี้ จากหมายกำหนดการซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยสังเขปนั้น… วันที่ 2 พฤษภาคม เสด็จฯ ไปถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต ปฐมบรมราชานุสรณ์ ณ สะพานพระพุทธยอดฟ้า ศาลหลักเมือง และเสด็จฯ ไปทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จากนั้นวันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. อัญเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกร จากวัดพระศรีรัตนศาสดารามสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และตั้งแต่เวลา 16.00 น. เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เจริญพระพุทธมนต์

“วันที่ 4 พฤษภาคม” วันสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็น “วันฉัตรมงคลในรัชสมัยปัจจุบัน” ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์” ปี พ.ศ. 2562 นั้น… เวลา 09.30 น. ทรงนมัสการพระรัตนตรัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และเวลา 10.09-12.00 น. ทรงสรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ จากนั้น เสด็จฯ ไปประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ที่รวมถึงพระแสงขรรค์ชัยศรี พระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่ง

นับแต่เวลานั้น ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ รัชกาลที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมบูรณ์ ซึ่งนับแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ อย่างเต็มว่า… “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” อย่างมัธยมว่า… “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และอย่างสังเขปว่า… “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทั้งนี้ ในเวลา 12.18 น. วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงมี “พระปฐมบรมราชโองการ” พระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า… “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน ซึ่งปวงไทยทุกหมู่เหล่าต่างแซ่ซ้อง สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

และในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสุทิดา ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” ซึ่งปวงไทยต่างชื่นชมโสมนัส

ต่อมาเวลา 14.56 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล จากพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้แทนข้าราชการตุลาการ และผู้แทนคณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ราษฎรทุกหมู่เหล่า โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งนับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงเฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคลในนามพระบรมวงศานุวงศ์ 

ทั้งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสตอบ ความสำคัญตอนหนึ่งว่า… “…ข้าพเจ้าขอเชิญชวนทุกท่านทุกฝ่ายในมหาสมาคมนี้ และประชาชนชาวไทยทุกคน ได้ตั้งความปรารถนาร่วมกันกับข้าพเจ้า ในอันที่จะร่วมกันปฏิบัติงานตามฐานะและหน้าที่แห่งตน โดยยึดเอาประโยชน์คือความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและความผาสุกร่มเย็นของประชาชนเป็นเป้าหมาย ขอคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครองรักษาทุกท่าน ให้ประสบความสุข ความเจริญ พร้อมด้วยพรอันเป็นมงคลทุกประการ…”  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงไทยทุกหมู่เหล่า

วันเดียวกัน เวลา 16.43 น.พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งประชาชนที่มารอเฝ้าฯ รับเสด็จ ต่างชูพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเปล่งเสียง ทรงพระเจริญ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และ ทรงมีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก แล้วเสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร จากนั้นเสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ห้วงระหว่างที่ขบวนพระราชอิสริยยศเคลื่อนไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานตั้งบายศรีแก้ว ทอง เงิน พราหมณ์เบิกแว่น ข้าราชบริพารรับแว่นเวียนเทียนสมโภชหมู่พระมหามณเฑียร ครั้นถึงเวลาพระฤกษ์ 13.19-20.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ เข้าริ้วขบวนเชิญเครื่องพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งตั้งในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เวียนประทักษิณสมโภชหมู่พระมหามณเฑียร จากนั้นทั้ง 2 พระองค์ เสด็จฯ ยังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และทรงประทับแรมในพระที่นั่งฯ อันเป็นไปตาม “พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร” ทั้งนี้ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. วันเดียวกัน สำนักพระราชวังได้เชิญ “ธงสำคัญ” ขึ้นสู่ยอดเสา คือ เชิญ “ธงมหาราช” ขึ้นสู่ยอดเสาเหนือพระบรมมหาราชวัง ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งธงสำคัญนี้เป็นธงพระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์

องค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 พระปฐมบรมราชโองการในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชดำรัสแห่งพระองค์นั้น ล้วนฉายชัดถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงไทยล้นพ้นยิ่ง

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน