แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม บอร์ด กสทช. ครั้งที่ 16/2567 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา บอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบในหลักการของโครงการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 กลยุทธ์ที่ 1 ระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถเข้าบริการโทรคมนาคมได้เป็นหลัก ภายใต้กรอบวงเงิน 4,000 ล้านบาท แต่ได้หารือว่า กสทช.ควรทำเอง หรือให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทำแทน
“เมื่อลงลึกถึงรายละเอียดของโครงการ กสทช.ยังไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากมีบอร์ด กสทช.บางท่าน รู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นข้อมูลโครงการที่เสนอมา เปรียบเทียบกับโครงการเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุขเคยทำ ไม่สอดคล้องกัน ทั้งๆ ที่จำนวน รพ.สต.กว่า 5,000 แห่ง แทบจะเป็นโครงการเดียวกัน แต่ กสทช.เสนองบประมาณแพงกว่า บอร์ด กสทช.จึงอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะดำเนินการเอง หรือให้ สดช.ดำเนินการ”
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า สำนักงาน กสทช. ได้เสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณานั้นเป็นการเสนอให้ รพ.สต. จำนวน 5,237 แห่ง ที่ชี้แจงว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจาก สธ.แล้วว่าเป็น รพ.สต.ที่ยังไม่ได้โอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย แต่ภายหลังจากที่ กรรมการ กสทช. ได้มีการตรวจสอบพบว่าข้อมูล รพ.สต. ที่เสนอจำนวน 5,237 แห่ง นั้นส่วนใหญ่เป็นข้อมูล รพ.สต. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เคยให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาแล้วในปีงบประมาณ 2567 จำนวน 5,246 แห่ง และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือยกเลิกการเช่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตจาก เอ็นที ทั้งหมดหลังสิ้นสุดสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 67 โดยมีเหตุผลเนื่องจากมีนโยบายให้หน่วยงานส่วนภูมิภาค ดำเนินการเช่าอินเทอร์เน็ตเอง โดย รพ.สต. ดังกล่าวจะต้องถูกโอนย้ายไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในแต่ละจังหวัด
“ไม่เข้าใจว่าทำไมสำนักงาน กสทช. ไม่ตรวจสอบข้อมูล รพ.สต. ที่เสนอมาให้รอบคอบ แต่จะมาเร่งรัดให้บอร์ด กสทช. อนุมัติ ทั้งที่ข้อมูลที่นำเสนอดังกล่าว ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเคยดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น และงบประมาณ ราคาค่าเช่าอินเทอร์เน็ตที่แพงกว่า 2,100 บาท/เดือน แต่กลับได้ความเร็ว 500/100 Mbps ที่น้อยกว่าเดิม”