ซึ่งผลการดำเนินงานเริ่มปรากฏผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม หลายพื้นที่โดยเฉพาะชาวประมงในจังหวัดสมุทรสาครยืนยันจำนวนปลาหมอคางดำลดลง 80% และบริษัทยังเดินหน้าลงพื้นที่ดำเนินโครงการกำจัดปลาอย่างต่อเนื่อง
โครงการกำจัดปลาหมอคางดำของซีพีเอฟ ประกอบด้วย ความร่วมมือกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปผลิตปลาป่น 2,000,000 กิโลกรัม ในกิโลกรัมละ 15 บาท โดยร่วมมือกับโรงงานศิริแสงอารำพี รับซื้อปลาจากชาวประมงในสมุทรสาคร ไปแล้วมากกว่า 600,000 กิโลกรัม และบริษัทยังขยายจุดรับซื้ออีกหลายจังหวัดต่อไป โครงการสนับสนุนปลานักล่าจำนวน 200,000 ตัว เพื่อปล่อยสู่ลงแหล่งนํ้าตามแนวทางกรมประมง วันนี้บริษัทได้ส่งมอบปลากะพงขาวไปแล้ว 54,000 ตัวแก่ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และจันทบุรี จากการดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ประมงจังหวัดสมุทรสาครยืนยันว่าจังหวัดสามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 800,000 ตัว ขณะที่ชาวประมงเอง ระบุว่าจำนวนปลาหมอคางดำในพื้นที่ลดลง 80%
บริษัทยังร่วมสนับสนุนกรมประมงจัดกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง” จับปลาหมอคางดำในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีการแพร่กระจายของปลา โดยซีพีเอฟร่วมสนับสนุนเครื่องมือจับปลา รวมทั้ง อาหารและนํ้าดื่มให้แก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งบริษัทได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมจับปลาไปแล้วใน 6 จังหวัด สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา และยังได้เดินหน้าร่วมสนับสนุนกับประมงจังหวัดเพื่อจัดกิจกรรมจับปลาในพื้นที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ประสานงานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อลดจำนวนปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ร่วมสนับสนุนโครงการผลิตนํ้าหมักชีวภาพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนำถังพลาสติกที่ใช้แล้วขนาด 1,000 ลิตรจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์มอบให้สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด 200 ใบ เพื่อนำมาใช้ใหม่เป็นถังบรรจุนํ้าหมักชีวภาพปลาหมอคางดำเพื่อส่งต่อให้การยางแห่งประเทศไทยต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยส่งมอบให้สำนักงานพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และจังหวัดอื่น ๆ จนครบ
นอกจากกิจกรรมกำจัดปลาในเชิงรุกแล้ว บริษัทยังได้ดำเนินโครงการจัดการปลาในระยะยาว ภายใต้การดำเนินโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) เพื่อแปรรูปปลาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และสุดท้ายโครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมประชากรปลา ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สจล. ร่วมพัฒนาหาทางหยุดวงจรปลาหมอคางดำในแหล่งนํ้า พร้อมทั้งมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้แสดงความสนใจเข้าร่วมอีกด้วยเพื่อให้การจัดการปลาหมอคางดำเกิดประสิทธิภาพในระยะยาว.