เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องป่า ไม่ช่วยอนุรักษ์ และฟื้นฟู ทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ จนเกิดหายนะ “ภาวะโลกเดือด” สภาพอากาศที่แปรปรวนและฝนตกหนักกว่าปีก่อน ๆ ทำให้การจัดการนํ้าในพื้นที่ไม่สามารถรองรับมวลนํ้าจำนวนมากได้ ป่าต้นนํ้าซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการชะลอและดูดซับนํ้าฝนสูญหายไป การสูญเสียป่าต้นนํ้าเร่งการไหลของมวลนํ้าอย่างรวดเร็ว และทำให้ปัญหานํ้าท่วมทวีความรุนแรงขึ้นในเมืองแพร่ ซึ่งปีนี้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี
วันนี้เรามีตัวอย่างโครงการการออกแบบของนิสิตภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอแนวคิด การพัฒนาเมืองท่องเที่ยวมรดกป่าที่ยั่งยืน และแก้ไขนํ้าท่วมเมืองแพร่ด้วยโครงการ “แป้ ปัน ป่า”
โครงการนี้ มีจุดประสงค์ในการอนุรักษ์ความเป็นเมืองแห่งป่าไม้ของแพร่ โดยฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในตัวเมืองเก่าให้อุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยใช้สันกำแพงเมืองที่เรียกว่า “เมก” เป็นกำแพงกันนํ้าสีเขียวด้วยการออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรม เชื่อมโยงกับคลองระบายนํ้า และแม่นํ้ายม ขยายพื้นที่สีเขียวในตัวเมืองเก่า และบนเมก ให้ต่อกับการฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมรอบ ๆ เมือง จัดการออกแบบพื้นที่ชุ่มนํ้าของลุ่มนํ้ายมใหม่ ให้มีพื้นที่แก้มลิง บริเวณกักเก็บและชะลอนํ้า ซึ่งสามารถเป็นพื้นที่สันทนาการของชุมชน รวมถึงขยายพื้นที่สีเขียวและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้เชื่อมต่อกับป่าอนุรักษ์ และแนวเขาซึ่งเป็นต้นนํ้า โครงการนี้มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ไม่เพียงแค่ช่วยสร้างรายได้ แต่ยังช่วยสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และหวงแหนพื้นที่ป่าไม้ การริเริ่มโครงการเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ช่วยกันปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้คนรุ่นหลังมีป่า และระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม เป็นการออกแบบแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ที่ไม่ใช่เพียงแค่ความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นการบูรณาการภารกิจร่วมกันของชาวแพร่ทุกคน เพื่อให้เมืองแพร่กลับมาเป็นเมืองมรดกป่าอีกครั้ง หวังว่าท่านผู้ว่าฯ และผู้มีบารมีในจังหวัดแพร่ จะเร่งทำโครงการดี ๆ นี้ ทันที
เรามีงานออกแบบที่สถาปนิกและชุมชนชาวแพร่ร่วมกันคิดแล้ว ที่เหลือคือ “รีบลงมือทำทันที” ก่อนป่าจะหมด จนเกิดนํ้าท่วมซ้ำซากมากขึ้นทุกปี.