ผศ. นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาให้ข้อมูลว่า “เข่าเสื่อม” เป็นโรคที่พบได้มากในผู้สูงอายุ มักก่อให้เกิดอาการ ปวดที่ข้อเข่า หากเป็นมากอาจส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ หรือเดินไม่ได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เราสามารถพบโรคนี้ได้ในกลุ่มคนที่อายุน้อย จากสาเหตุที่แตกต่างกันไป
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร โรคที่ผิวข้อเกิดการเสื่อมสภาพ ทําให้เกิดการอักเสบเรื้อรังหรือเข่าผิดรูป และเกิดความเจ็บ ปวดที่ข้อเข่าปัจจัยของโรคข้อเข่าเสื่อมอายุ เมื่ออายุมากขึ้น เข่าผ่านการใช้งานที่ยาวนาน จึงเกิดความเสื่อมได้ตามเวลา น้ำหนักตัว น้ำหนักตัวที่มากทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น การใช้งาน การนั่งในท่าที่ต้องงอเข่าเกิน 90 องศา เป็นการเพิ่มแรงดันในข้อเข่า ส่งผลให้ปวดเข่าได้ อุบัติเหตุ การเล่นกีฬาที่มีการกระแทกสูงเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของข้อเข่า
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ อาการที่เกิดจากการเสื่อมหรือการผิดรูป โดยปกติผิวข้อของคนเราจะขนานกัน หากเป็นข้อเข่าเสื่อม ผิวข้อบางส่วนอาจสึกทำให้กระดูก 2 ข้างไม่เท่ากัน สังเกตได้จากบางคนเดินแล้วเข่าโก่ง หรือเข่าเข้ามาชิดกัน หรือได้ยินเสียงกรอบแกรบบริเวณหัวเข่า อาการอักเสบ ผู้ป่วยมีอาการปวดหรือบวมบริเวณข้อเข่า อาจเกิดจากการใช้งานเข่าที่มากเกินไป ส่วนใหญ่มักปวดเมื่อขยับเข่าหรือลงน้ำหนัก เช่น เดินเยอะ ยืนนาน มีการงอเหยียดเข่า
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม การรักษาโรค ข้อเข่าเสื่อม มีหลายวิธีที่ต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการปรับพฤติกรรมการชีวิต และการรักษาทางการแพทย์ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงการงอเข่าเกิน 90 องศา เช่น การนั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งกับพื้น เพราะเป็นท่าที่ทำร้ายข้อเข่า ควบคุมน้ำหนัก การลดน้ำหนักลงจากเดิมได้อย่างน้อย 5% ช่วยให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลง อาการปวดเข่าจึงน้อยลงด้วย เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่า กล้ามเนื้อหน้าขา เป็นกล้ามเนื้อที่มีผลต่อการทำงานของเข่า การออกกำลังกายกล้ามเนื้อส่วนนี้ให้แข็งแรงจะช่วยลดอาการปวดตึงบริเวณเข่าจากข้อเสื่อมได้
รักษาด้วยยา แพทย์ จะให้ยาลดปวดหากผู้ป่วยมีอาการปวด โดยยาที่ให้อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับระยะของความเสื่อมและโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ นอกจากยาแก้ปวดแล้ว อาจมีการให้ยากลุ่ม กลูโคซามีนซัลเฟต หรือไดอะเซอรีน ซึ่งเป็นยาที่ช่วยฟื้นฟูและเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า จึงช่วยลดอาการปวดข้อที่เกิดจากข้อเสื่อมระยะต้น ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถรับประทานต่อเนื่องในระยะยาวได้ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาลดอักเสบหรือยาบางชนิดต่อเนื่องนาน ๆ ได้ เพราะมีผลต่อโรคประจําตัว การใช้ยากลุ่มกลูโคซามีนหรือไดอะเซอรีนจึงถือเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่ง
ผ่าตัดเข่า การรักษาด้วยวิธีนี้ใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดเข่ามาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยการผ่าตัดเข่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เหมาะสมสําหรับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป หรือเข่าสึกมาก เนื่องจากข้อเทียมมีอายุการใช้งาน 15-20 ปี หากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าตั้งแต่อายุน้อยอาจทำให้ต้องผ่าตัดแก้ไขอีกครั้งเมื่ออายุมากขึ้น ผ่าตัดปรับมุมกระดูก แพทย์มักใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่อายุยังน้อย เพื่อเปลี่ยนรูปทรงของกระดูกให้น้ำหนักไปลงจุดที่เข่าไม่เสื่อมแทน เป็นการยืดระยะเวลาไปก่อนต้องผ่าตัดเปลี่ยนเข่าจริง
วิธีป้องกันข้อเข่าเสื่อม ต้องควบคุมน้ำหนัก น้ำหนักที่มากเกินไปทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมาก หลีกเลี่ยงการใช้งานเข่าในท่าที่งอเกิน 90 องศา เช่น การนั่งยอง ๆ นั่งกับพื้น การนั่งในลักษณะนี้เป็นการเพิ่มแรงดันในเข่า ทําให้กระดูกที่ไม่เรียบเข้ามาสีกัน แล้วกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้ ออกกําลังกายกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหน้าขา ช่วยลดอาการปวดได้
ระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณเข่า หรือเล่นกีฬาที่มีการกระแทกสูง เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากการล้มเข่าบิดจนโครงสร้างในข้อเข่าถูกทำลาย ทำให้การรับน้ำหนักในข้อเข่าผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดข้อเข่าเสื่อมในระยะยาวได้
แม้โรคข้อเข่าเสื่อมจะเป็นโรคที่พบได้มากในผู้สูงอายุ แต่ใคร ๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ฉะนั้น หากพบความผิดปกติที่ข้อเข่า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษา เป็นการช่วยลดความรุนแรงของโรค และทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้.