เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวอภิปรายนโยบายของรัฐบาลตอนหนึ่งว่า ตนจะอภิปรายในหัวข้อเศรษฐกิจ โดยเสนอแนวคิดทำแถลงนโยบายนี้ให้เป็นเสมือนจีพีเอส คอยบอกเราว่ารัฐนาวาแห่งนี้แล่นไปทางไหน มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ใดรวมถึงด้วยวิธีการและเส้นทางใด เหมือนหรือต่างกับที่เคยสัญญา กับผู้ร่วมเดินทางหรือโหวตเตอร์ของพวกเขา และจะเดินทางถึงเป้าหมายเมื่อไร ซึ่งรัฐบาลนี้เกิดขึ้นจากการผิดคำพูด ผิดสัญญาไปแล้วหนึ่งรอบ และก่อนหน้านี้แกนนำของพรรคเพื่อไทย มีโอกาสบริหารประเทศมาแล้วหนึ่งปี ซึ่งมีความผิดหวังเสียใจที่ไม่สามารถส่งมอบนโยบายมาแล้ว 1 รอบ
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนเห็นว่าโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีควรใช้การแถลงนโยบายนี้ เป็นกลไกกู้คืนความเชื่อมั่น และศรัทธาของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ให้กลับคืนมา และควรเป็นสัญญาที่หนักแน่นว่า อีก 3 ปีข้างหน้าจะทำอะไรนำพาความก้าวหน้าอะไรมาให้ประชาชน และวิธีการอย่างไร ซึ่งคำสัญญาจะแสดงถึงการรับผิดรับผิดชอบต่อประชาชน และจากการตรวจนโยบายที่แถลงพบว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ยังเป็นจีพีเอสที่พาเราหลงทาง ซึ่งมักจะเขียนใช้คำกว้างๆ แต่ไม่รู้วิธีการทำ ซึ่งตนให้คะแนนการอธิบายรายละเอียดจากการย่อยนโยบายมากกว่าตอนแถลงของนายเศรษฐา
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งจะอยู่ที่ช่วงท้ายว่า “เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจมาสู่คนไทย และประเทศไทย” ตนมองว่าเป้าหมายไม่ชัด ซึ่งปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนต้องการตรวจสอบว่าทำนโยบายแล้วหรือไม่ แต่หากเทียบกับนายกรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ตนยังคงมอบมงให้กับคำแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีการบอกชัดเจนว่า สังคมเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรในปีไหน นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่ชัดเจนมาก
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในครั้งนี้หลายนโยบายเขียนไม่ชัดเจนอย่าง และบางนโยบายจางหายไป เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องการเติมเงิน 1 หมื่นบาทโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งที่ผ่านมา มีการเขียนครบและชัดเจน แต่การแถลงนโยบายในครั้งนี้คำว่า 1 หมื่นบาทหายไป ซึ่งขอให้รัฐบาลตอบมาว่าจะยังได้รับเงิน 1 หมื่นบาทอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทวงถามกันมา และสิ่งที่เป็นนโยบายเพิ่มเติมขึ้นมา รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แปลงร่างเป็นค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย ซึ่งนโยบายที่แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา ไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงไว้ แต่เหมือนกับวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ได้พูดไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกัน 11 จาก 14 ประเด็น เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต ที่บอกว่าเริ่มจากกลุ่มเปราะบางก่อน ขุดเศรษฐกิจใต้ดินเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ดันจีดีพีโต 50% รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เวนคืนรถไฟฟ้าที่เอกชนบริหารมาเป็นของรัฐ หรือแม้แต่ขยายขยายกองทุนวายุภักษ์
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า แม้จะไม่มีในคำแถลงนโยบาย แต่รัฐบาลได้ดำเนินการทำเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหลายสิ่งอาจจะเป็นการรีไซเคิลซิกเนเจอร์ ของรัฐบาลไทยรักไทย โครงการพักหนี้ โครงการแลนด์บริดจ์ หรือรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งมีการเปรียบเทียบนโยบายสมัยพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ใช่เพียงแค่นโยบายตรงกัน แต่เหมือนระดับมิลเลอร์ AAA+เช่น รัฐบาลนายทักษิณ เคยบอกประเทศไทยมีเศรษฐกิจใต้ดินสูงมากเกือบ 50% ขณะที่รัฐบาล น.ส.แพรทองธาร ก็บอกว่าเราจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐบาล เศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดิน เข้าสู่ระบบภาษีที่คาดว่ามีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50% ของ GDP ซึ่งความเหมือนนี้ ตนมองว่าอาจจะมีปัญหา ซึ่งไม่ใช่เรื่องการครอบงำ แต่จะเป็นปัญหาเรื่องความรับผิดรับผิดชอบ การที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเขียน ใครเป็นคนวางนโยบาย ทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก และต่อไปการประชุมคณะรัฐมนตรีอาจจะเป็นเพียงพิธีกรรม เพราะเรื่องสำคัญอาจถูกตัดสินมาแล้วจากที่อื่น
“คำพูดและถ้อยคำที่เหมือนกัน แต่เอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน ซึ่งเราอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างความน่าเชื่อถือความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่า จะเป็นคนที่ดำเนินนโยบายที่แถลงเองจริงๆ ซึ่งยังไม่สาย และขอให้ท่านได้มาตอบด้วยตนเอง ในรายละเอียดทั้งเรื่องมาตรการเป้าหมายกำหนดระยะเวลาของแต่ละนโยบายว่าจะทำอย่างไร เพราะเราอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่มีแสงสว่างในตัวเอง เป็นดาวฤกษ์ไม่ใช่ดาวเคราะห์อย่าง เช่น ดวงจันทร์ที่สองสว่างโดยการใช้แสงจากพระอาทิตย์ และวันที่พระอาทิตย์สว่างจ้า เราจะไม่เห็นดวงจันทร์” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
อย่างไรก็ตามขณะที่มีการอภิปราย นายวัชระ ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วง ว่าตั้งแต่พูดมายังไม่เห็นมีการพูดถึงนโยบายรัฐบาล น.ส.แพทองธาร เราวนเวียนแต่เรื่องในอดีต ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ ประธานในที่ประชุม ได้วินิจฉัยให้ น.ส.ศิริกัญญา พูดถึงนโยบายในปัจจุบัน มากกว่านโยบายที่เกิดขึ้นในอดีต
จากนั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเคยอภิปรายตามมาตรา 152 ไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย. ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปมาหลายรอบ ทั้งเรื่องจำนวนประชาชนผู้ได้รับสิทธิ และระยะเวลาในการแจก รวมถึงแอปพลิเคชันในการดำเนินการ และงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการ ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วถึง 7 รอบ ซึ่งจะมีการใช้งบกลางปี 67 ให้นำมาแจกเป็นเงินสดในโครงการก่อน ส่วนที่เหลือพยายามแบ่งงบปี 68 ทั้งกู้เพิ่ม ตัดลดงบใช้หนี้ชำระแบงก์รัฐ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้ครบ 45 ล้านคน ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี มีการแถลงว่าจะมีการแบ่งจ่ายเป็นสองงวด งวดละ 5,000 พัน และหากระบบชำระเงินเสร็จทัน จะแจกเป็นเงินดิจิทัล แต่หากไม่ทันจะแจกเป็นเงินสด ซึ่งตนอยากฟังให้ชัดเจนว่า โครงการนี้จะจบอย่างไร และวันที่ 15 ก.ย. นี้ จะหมดเขตในการลงทะเบียน เพื่อจะได้ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายมีกี่คน และจะหาเงินจากไหนมาแจก และยังจะแจกจำนวน 1 หมื่นบาทหรือไม่ และจะแจกเป็นเงินสดหรือดิจิทัลวอลเล็ต
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ตนขอให้รัฐบาลใหม่ได้ตั้งสติว่า การนำนโยบายเรือธงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ซึ่งขอเดาว่ามีมือที่มองไม่เห็นที่คอยมาสั่งอย่างเดียว จะเอาให้ได้ แต่ไม่รู้ว่าหน้างานเป็นอย่างไร และกฎหมายเปลี่ยนไปขนาดไหนแล้ว ฐานะการคลังรับได้แค่ไหน เมื่อไม่ได้คิด สักแต่จะทำให้ได้ เพราะเป็นนโยบายเรือธงโครงการใหญ่ “เจ๊งไม่ว่าแต่เสียหน้าไม่ได้” และขณะนี้เหมือนเป็นอาการเมาหมัด ทำๆ ไปก่อน สุดท้ายเครดิตและความเชื่อมันต่อรัฐบาลจะไม่เหลือ ซึ่งพายุหมุนที่คาดหวังจะกลายเป็นความกดอากาศต่ำ
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้เรื่องการปฏิรูประบบราชการถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีการเขียนถึงความท้าทายเป็นรัฐราชการรวมศูนย์อุ้ยอ้าย ไร้ประสิทธิภาพ สิ่งนี่จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ว่าจะมีการเคลมเครดิตจากการเคยทำอะไรสำเร็จไว้ในอดีตได้หรือไม่ เพื่อจะได้พิสูจน์ว่าน้ำยาหรือศักยภาพที่เคยมีเมื่อ 20 ปีก่อน จะคงอยู่หรือไม่ แต่หากวิเคราะห์ตามนโยบายที่ออกมา เรื่องการปฏิรูประบบราชการ ตนรู้สึกว่าจะเป็นทางออกหรือทางรอดของการปฏิรูประบบราชการไทย ผ่านถ้อยคำการแถลงนโยบายครั้งนี้.