นาวาอากาศเอก อมร ชมเชย รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย แต่ยังพบปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ที่มีความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จำนวนมาก ทาง สกมช. จึงได้ร่วมกับ พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ จัดโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (Palo Alto Networks Cybersecurity Academy)  เป็นโครงการระดับโลกที่ริเริ่มโดยพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ขึ้นโดยตั้งเป้าหมาย สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ 1,000 คนต่อปี โดยปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ 15 แห่ง เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลน บุคลากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในการปกป้องเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศได้ในระดับหนึ่ง

“หน่วยงานของรัฐยังขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ ร่วมถึงงบประมาณ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข หากต้องการยกระดับความปลอดภัย โดยปัจจุบันหน่วยงานสาธารณสุขถือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุด ซึ่งทาง สกมช. ก็ได้มีการหารือกับทางกระทรวงสาธาณสุขอย่างต่อเนื่องเพื่อด้วยการเร่งจัดฝึกอบรมให้บุลลากรภาครัฐ ส่วนในระยะยาวจะมีการหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษ ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เพื่อจูงใจให้คนสนใจเข้ามาทำงานด้านนี้ในภาครัฐมากขึ้น จากปัจจุบันค่าตอบแทนของรัญและเอกชนแตกต่างกันมาก”

ด้านนายธัชพล โปษยานนท์  ผู้อำนวยการ บริษัท พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ประเทศไทย และอินโดจีน  กล่าวว่า บริษัท มุ่งมั่นทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐเพื่อให้ความปลอดภัยทางไซเบอร์ของไทยได้รับการจัดการอย่างรัดกุมมากที่สุด ซึ่งการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนเร่งปรับขบวนการสู่ดิจิทัล ระบบรักษา ความปลอดภัยไซเบอร์ จึงเป็นวาระเร่งด่วนของภาครัฐ จึงจำเป็นต้องลงทุนในการพัฒนาและเพิ่มทักษะให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดยังได้ จัดการแข่งขัน Capture the Flag (CTF) เป็นรายการแข่งขันที่เป็นแพลตฟอร์มความรู้ด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับผู้เข้าร่วมแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยโดยมีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 87 ทีม จาก 34 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สำหรับทีมชนะเลิศ คือ ทีมไฟเบอร์ซีเคียวริตี้ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม Confused30 จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีม Ro_bocop จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

“พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ สนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจากโครงการ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ อคาเดมี่ โปรแกรม ซึ่งประกอบด้วย ชุดหลักสูตรทางวิชาการและชุดหลักสูตรทางเทคนิค ด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ หลังจากอบรมจนจบหลักสูตร นักศึกษาหรือผู้เข้าอบรมจะได้รับใบประกาศนักเทคนิคระดับเริ่มต้นด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์หรือใบประกาศผู้ดูแลระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่าย ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านการรับรองรวมจำนวน 121 คน” นายธัชพล กล่าว