นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยในงานสัมมนา EEC Future : 5G… ดันศักยภาพไทยแข่งขันเวทีโลก ของ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ว่า รัฐบาลมีนโยบายนำเทคโนโลยี 5  จี มาประยุกต์ใช้ได้จริง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยการนำ5จี ไปใช้ในภาคธุรกิจและบริการต่างๆ เช่น บริการทางการแพทย์ , การเกษตรอัจฉริยะ , การศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยี 5จี การรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ ฯลฯ

“ปัจจุบันไทยเป็นประเทศแรกๆในการให้บริการ 5  จี เชิงพาณิชย์ และคนไทยมีความพร้อมมีการใช้ดิจิทัลในชีวิตมากขึ้น มีการใช้งานโมบายแบงก์กิ้งอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ภาครัฐก็ผลักดัน การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนต่างจังหวัด ผ่านโครงการเน็ตประชารัฐที่ปัจจุบันมีคนใช้งานมากกว่า 9   ล้านคน ซึ่งจากนี้จะมีการสนับสนุนนำ 5  จี ไปใช้ในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะใน ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและ นวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) โดยเร่งรัดสร้างเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล หรือ ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์  เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน”

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อถึงปี 73 การใช้งานเทคโนโลยี 5 จี มีแนวโน้มขยายตัวและส่งผลกระทบต่อประชากรไทยกว่า 75-80% โดยมีปัจจัยหนุน จาก แบนด์วิชท์ เครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนด้านดาต้าต่ำลง และรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่ากังวลคือ เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ และการฉ้อโกง นอกจากนี้คาดว่าจะมีการ จะสร้างงานใหม่กว่า 130,000 งานในไทย  และตลาด 5 จี ของประเทศไทยจะมีมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท เนื่องจากการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนสูงขึ้น และการใช้งานอุปกรณ์อัจฉริยะที่ต้องอาศัย 5จี ในภาคอุตสาหกรรม การใช้โดรนในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนกลุ่มสื่อและบันเทิงผ่านสตรีมมิ่ง ฯลฯ โดยเมื่อถึงปี 78 คาดว่า 5จี จะช่วยเพิ่มมูลค่าจีดีพี ให้กับประเทศไทย 5.5 เท่า  

อย่างไรก็ตามในกรณีที่หากประเทศไทย ไม่สามารถใช้งาน 5จี ได้ภายในปี 73 ไทยจะเผชิญค่าเสียโอกาสประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท โดยอุตสาหกรรมการผลิตจะได้รับผลกระทบสูงสุด คาดว่าจะสูญเสีย มูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท.