สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ว่าสำนักงานอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) เผยแพร่รายงานในสัปดาห์นี้ ว่าปี 2563 เป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของทวีปแอฟริการ้อนสุดเป็นอันดับสาม โดยเพิ่มขึ้น 0.86 องศาเซลเซียส จากค่าเฉลี่ยในรอบ 3 ทศวรรษ จนถึงเมื่อปีที่แล้ว แม้ยังถือว่าอุ่นขึ้นช้ากว่าพื้นที่ละติจูดสูงแห่งอื่น แต่ยังคงก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงในทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับธารน้ำแข็งในทวีปแอฟริกา


ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไป ธารน้ำแข็งในภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นบริเวณเดียวในภูมิภาคที่ยังคงมีธารน้ำแข็ง จะละลายจนหมด “ในอีกไม่นานนี้” เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยดับเบิลยูเอ็มโอคาดการณ์ ธารน้ำแข็งบนยอดเขาคิลิมันจาโร ในแทนซาเนีย ภูเขาเคนยา ในเคนยา และเทือกเขารเวนโซรี ที่อยู่ระหว่างยูกันดากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) จะละลายจนหมดสิ้น ภายในช่วงทศวรรษเริ่มตั้งแต่ปี 2583


ขณะเดียวกัน หากการแก้ไขภาวะโลกร้อนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ประชากรในทวีปแอฟริกา 118 ล้านคน ซึ่งอยู่ในภาวะยากจนถึงขีดสุด ที่ตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คือผู้ที่มีรายได้ต่อวันไม่ถึง 1.90 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 63.22 บาท) จะต้องประสบกับภัยแล้ง น้ำท่วม และสภาพอากาศร้อนจัด


หากต้องการหลีกเลี่ยงจากผลกระทบร้ายแรงดังกล่าว ภูมิภาคซับซาฮารา หรือประเทศทั้งหมดที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาราลงไป ซึ่งกินบริเวณเกือบทั้งทวีป ต้องใช้งบประมาณ 30,000-50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 998,400-1.6 ล้านล้านบาท) หรือประมาณ 2-3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในแต่ละปี เพื่อการปรับตัวให้อยู่รอดจากภัยธรรมชาติ ทั้งที่ภูมิภาคแห่งนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันยังไม่ถึง 4%.

เครดิตภาพ : REUTERS