สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ว่าคลิปวิดีโอซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง (เอชยูเอสที) เผยให้เห็นทีมวิจัยที่นำโดย ติงเลี้ยอวิ๋น ใช้ดินดวงจันทร์แบบจำลองในการสร้าง “อิฐดวงจันทร์” ที่มีความแข็งแรงมากกว่าอิฐแดง หรืออิฐคอนกรีตมาตรฐานถึงสามเท่า
ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวิธีการสร้างแบบ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ และประดิษฐ์หุ่นยนต์พิมพ์ 3 มิติ เพื่อพิมพ์บ้านโดยใช้ดินดวงจันทร์
โจวเฉิง นักวิจัยอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ทีมวิจัยใช้ดินดวงจันทร์จำลอง 5 ชนิด และกระบวนการเผาผนึก 3 แบบ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อการคัดเลือกวัสดุและการปรับปรุงกระบวนการ สำหรับการสร้างฐานบนดวงจันทร์ในอนาคต
องค์ประกอบของดินดวงจันทร์แตกต่างกันไป ตามแต่ละสถานที่บนดวงจันทร์ โดยมีองค์ประกอบหนึ่งที่ได้จำลองดินบนดวงจันทร์ ณ จุดลงจอดของยานภารกิจฉางเอ๋อ-5 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินบะซอลต์ ขณะที่องค์ประกอบอื่นบางส่วนจำลองจากดิน ซึ่งพบในสถานที่แห่งอื่น ส่วนส่วนใหญ่เป็นหินอะนอโทไซต์
อิฐดังกล่าวจะต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ เพื่อตรวจสอบว่าสมรรถนะเชิงกลของอิฐ จะลดลงในสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์หรือไม่ และสามารถทนต่อแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ที่มีความถี่สูงได้หรือไม่
อนึ่ง ดวงจันทร์มีสภาพแวดล้อมสุญญากาศ ซึ่งมีรังสีคอสมิกจำนวนมาก และมีอุณหภูมิสูงเกิน 180 องศาเซลเซียสในช่วงข้างขึ้น และลดลงเหลือ -190 องศาเซลเซียสในช่วงข้างแรม โจวกล่าวว่า ทีมวิจัยต้องตรวจสอบว่าอิฐสามารถกันความร้อนได้ดีเพียงใด และสามารถทนต่อรังสีได้หรือไม่
ด้านสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี) รายงานเพิ่มเติมว่า จะมีการส่งอิฐดวงจันทร์ดังกล่าวไปยังสถานีอวกาศของจีนโดยยานขนส่งสินค้าเทียนโจว-8 เพื่อตรวจสอบสมรรถนะเชิงกล และสมรรถนะทางความร้อน ตลอดจนตรวจสอบความสามารถในการทนต่อรังสีคอสมิก โดยคาดว่า จะส่งอิฐดวงจันทร์ก้อนแรกกลับคืนสู่โลก ภายในสิ้นปี 2568.
ข้อมูล-ภาพ : XINHUA