น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลภัยพิบัติประเด็นเรื่อง กทม. เตรียมรับมือพายุถล่มหนักที่สุด วันที่ 26 ต.ค.–12 พ.ย. 64 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการแชร์คลิปวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่าพายุจะถล่มกรุงเทพมหานคร หนักที่สุดในช่วงวันที่ 26 ต.ค.–12 พ.ย. 64 ทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบประเด็นดังกล่าวชี้แจงว่า ในช่วงวันที่ 24–29 ต.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนน้อย ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง 

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 24–26 ต.ค. 64 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณ ทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนล่าง คาดว่าในช่วงวันที่ 27–29 ต.ค. 64 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง เมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม อาจจะอ่อนกำลังลงก่อนจะเคลื่อนขึ้นฝั่ง และจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนขึ้นฝั่ง หย่อมความกดอากาศต่ำที่จะก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้ช่วงวันที่ 25–28 ต.ค.64 ซึ่งจากแบบจำลองบรรยากาศนี้ โอกาสเกิดขึ้นได้และจะแรงขึ้นเนื่องจากยังอยู่ในทะเลเปิด แต่จะแรงขึ้นถึงเป็นพายุหมุนเขตร้อนได้หรือไม่ ต้องติดตาม

ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญของการก่อตัวครั้งนี้คือ มีมวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงอยู่ด้านหน้า ซึ่งแผ่ปกคลุมบ้านเรา และลมที่พัดปกคลุมจะเป็นลมทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ (อากาศแห้ง) ส่วนการตั้งชื่อต้องได้ชื่อ ตามข้อตกลงของ RSMC โตเกียว ซึ่งรับผิดชอบในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ ชื่อพายุลูกใดแรงขึ้นก่อนจะได้ชื่อว่า หมาเหล่า (MALOU) ลูกต่อไปจะไล่เรียงตามลำดับ ขอให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นระยะๆ อย่าได้ตื่นตระหนกกับข่าวลือในช่วงวันที่ 23 และ 28 ต.ค. 64

อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจท่าให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.tmd.go.th Facebook: กรมอุตุนิยมวิทยา, Application: Thai weather หรือติดต่อสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ขอความร่วมมือประชาชนสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรฯ สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง