สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ว่าหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจ และจุดประกายการหารือในหมู่นักวิเคราะห์ ได้แก่ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ต่อภูมิภาคเอเชีย” โดยเฉพาะจีน, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันตก
โลกยังคงจดจำ “รัฐบาลทรัมป์ 1.0” ซึ่งอยู่ในอำนาจระหว่างปี 2560-2564 ได้ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เขาสนับสนุนลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจของอเมริกา และจุดยืน “อเมริกาต้องมาก่อน” แต่แนวทางดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อการค้าโลก และภูมิรัฐศาสตร์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะเดียวกัน วาทกรรมหาเสียงของทรัมป์ ซึ่งให้คำมั่นว่า จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% และยุติความขัดแย้งในฉนวนกาซาและยูเครนอย่างความเร่งด่วน ได้ก่อให้เกิดคำถามต่าง ๆ ตามมา
นายอัซมี ฮัสซัน ศาสตราจารย์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “มาเลเซีย” อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากชัยชนะของทรัมป์ หลังเขาประกาศจุดยืนทั่วไปว่า จะเก็บภาษีนำเข้า 10-20% กับทุกประเทศ
อัซมีระบุว่า ภาษีนำเข้า 60% จะมีผลสำหรับจีนโดยเฉพาะ ส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ที่ทำการส่งออกไปยังจีนสูง เช่น มาเลเซีย อย่างไรก็ตาม เขาคาดการณ์ว่า ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน จะตึงเครียดมากกว่าสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยเทียบกับสมัยที่ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรก หรือคนที่ 45
มาเลเซียตั้งใจจะเข้าร่วมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ “บริกส์” ซึ่งมีสมาชิกหลักคือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้ ขณะที่ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับจีนและรัสเซีย เป็นปัจจัยที่อาจทำให้อาเซียนห่างไกลจากสหรัฐมากขึ้น เนื่องจากทรัมป์ไม่สนับสนุนกลุ่มบริกส์ เพราะพวกเขาอาจยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ ซึ่งต้องการทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
มากไปกว่านั้น ท่าทีดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออาเซียน และมาเลเซีย ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2568
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับ แนวโน้มของฉนวนกาซาและเอเชียตะวันตก ที่จะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทรัมป์สมัยที่สอง อัซมีกล่าวว่า แผนยุติความขัดแย้งของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ อาจได้รับอิทธิพลจากแนวทางของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล
ในวาระแรก ทรัมป์ย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังเมืองเยรูซาเลม แม้ปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ทางตะวันออกของนครศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่เพื่อแสดงการยอมรับของสหรัฐ ว่าเมืองเยรูซาเลมเป็นของอิสราเอลทั้งหมด จึงอาจถือได้ว่า ทรัมป์แสดงการสนับสนุนอิสราเอลมากกว่าไบเดน
อัซมียังคาดการณ์ว่า รัฐบาลของทรัมป์จะตั้งเป้ารื้อถอนความสามารถ ในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของอิหร่าน เพื่อยับยั้งการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลเตหะราน และอาจสนับสนุนอิสราเอล ให้โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ดร.โอห์ ไอ ซุน ที่ปรึกษาหลักของศูนย์วิจัยแปซิฟิกแห่งมาเลเซีย และนักวิจัยอาวุโสของสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจหลัก เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ไทย และอาจรวมถึงฟิลิปปินส์และเวียดนาม จะต้องเผชิญกับ “อุปสรรค” มากมายในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียมักนำมาซึ่งโอกาสที่เหมาะสมในการลงทุนในอเมริกา เช่น การจัดตั้งโรงงาน เนื่องจากทรัมป์ต้องการสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน นั่นหมายความว่า เขายินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ
โอห์คาดการณ์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน จะตึงเครียดมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจ แต่ในแง่ของการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์ และความแตกต่างทางอุดมการณ์ เขาเชื่อว่า ทรัมป์จะไม่ใส่ใจกับมันมากนัก.
เครดิตภาพ : AFP