การปรับปรุงข้อมูลหลายอย่างที่เกี่ยวข้องในประเด็นอ่อนไหวนี้ จึงเริ่มมีความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการทำให้ข้อมูลผู้สูญหายเป็นปัจจุบันมากที่สุด
“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามเรื่องนี้กับ น.ส.นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผอ.กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ระบุว่า จำนวน 91 รายชื่อก่อนหน้านี้เป็นจำนวนผู้สูญหายตั้งแต่ปี 2535 หรือช่วงเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ก่อนนี้มีการทยอยยื่นถอนรายชื่อกับ UN เนื่องจากการสืบสวน ค้นหาบางส่วนเปลี่ยนชื่อ-สกุล ที่อยู่ บางส่วนเสียชีวิตไปแล้ว
ทั้งนี้ คงเหลือเพียง 5 รายชื่อ ที่ยังต้องติดตามชะตากรรมและแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป ได้แก่ 1.นายสมชาย นีละไพจิตร 2.นายกมล เหล่าโสภาพันธ์ 3.น.ส.เพ็ญศรี บุญประเสริฐ 4.นายมนเทพ อมรเวชยกุล และ 5.นายอ๊อด ไชยวงศ์
ผอ.กองสิทธิมนุษยชนฯ ระบุ คนไทยทั้ง 91 ราย ที่หายสาบสูญบางส่วนเกิดขึ้นช่วงพฤษภาทมิฬ ซึ่งมีทั้งนักเคลื่อนไหวทางความคิด และชาวบ้านธรรมดา ที่ออกไปอยู่ในพื้นที่ชุมนุมท้องสนามหลวง ไม่ว่าจะร่วมชุมนุมหรือไปตั้งแผงขายของ แต่เมื่อมีการปราบจลาจลส่งผลให้หาตัวกันไม่เจอ สุดท้ายญาติจึงต้องแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตามหา โดยกระบวนการมีทั้งเจ้าหน้าที่สืบสวนจากพยานแวดล้อม หรือผู้ที่อยู่รอบข้างในเหตุการณ์ หรือสืบสวนจากญาติ เพื่อนำข้อมูลไปขยายผล
“บางครั้งอาจไม่ได้ติดต่อกับญาติคนใกล้ชิด แต่ติดต่อกับญาติที่อยู่ห่างไกล หรือพลัดถิ่นย้ายภูมิลำเนา เจ้าหน้าที่จึงต้องสืบเสาะจากทะเบียนประวัติ เพื่อให้ทราบพิกัดล่าสุดชัดเจนมากขึ้นว่าพักอาศัย หรือปรากฏตัวในสถานที่ใดหรือไม่”
สำหรับกระบวนการสืบเสาะค้นหา จะมีการเชิญญาติเข้าสอบปากคำ เพื่อขอข้อมูลต่างๆ พฤติกรรม วิถีชีวิต และเก็บสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อนำไปค้นหาความเชื่อมโยง ดังนั้น กรณีเจอศพนิรนาม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์และ DNA เพื่อนำไปเทียบเคียงกับข้อมูลบุคคลสูญหายในระบบที่มีการแจ้งไว้
กรณีที่บุคคลนั้นยังมีชีวิต การตรวจ DNA ถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าไม่ผิดตัว เพราะอาจมีการสวมสิทธิ หรือมีการปลอมแปลงเอกสารราชการ
“กรณีทนายสมชาย การสืบสวนค้นหายังคงดำเนินการต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าคณะทำงานและเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่พบหลักฐานใหม่เพิ่มเติม หรือพิกัดล่าสุดใด ๆ ที่จะบ่งบอก หรือชี้ชัดได้ถึงชะตากรรม”
พร้อมระบุ อุปสรรคในการค้นหาผู้สูญหายมีหลายประการ หากมองในแง่ปฏิบัติโดยเฉพาะรายที่หายสาบสูญมานาน อย่างพฤษภาทมิฬ จากวันนั้นถึงวันนี้ การหาพยานหลักฐาน หรือบุคคลรู้จักเป็นไปได้ยาก ยิ่งประจักษ์พยานที่เห็นการอุ้มหาย เห็นเหตุการณ์โดยตรงก็ยังไม่เคยพบ อีกทั้งความร่วมมือของญาติก็มีอุปสรรคเช่นกัน
ยกตัวอย่าง ข้อมูลทะเบียนราษฎรสืบค้นว่าผู้สูญหายเคยพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ใด ใครเป็นเจ้าของบ้าน หรือใครพักอาศัยร่วมชายคา เป็นต้น เป็นขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปพูดคุยเกือบทุกคน เพื่อนำข้อมูลไปขยายผล แต่สิ่งที่พบบางกรณีญาติไม่ติดใจ ไม่ประสงค์ตามหา หรือปกปิกข้อมูลบางอย่าง ทำให้ได้ข้อมูลเพียงเล็กน้อย
อีกด้านคือการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อเวลาล่วงเลย การลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อหาร่องรอยเป็นเรื่องยากที่จะคงสภาพสมบูรณ์ ซ้ำยังมีอุปสรรคเรื่องความโปร่งใส เพราะบางครั้งภาคประชาสังคมอาจวิจารณ์ประเด็นมีเจ้าหน้าที่ไปข่มขู่บังคับให้ญาติยินยอมไม่ติดใจค้นหา เพื่อไม่เกิดการทักท้วงรายชื่อภายใน 6 เดือน ท้ายสุดก็จบที่ยุติ ซึ่งเป็นข้อท้าทายที่รัฐต้องทำอย่างโปร่งใส
พร้อมยกตัวอย่าง กรณีเจ้าหน้าที่จะยุติการสืบสวนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไม่พบพยานหลักฐานเพิ่มเติม หรือพยานหลักฐานใหม่ แต่มักเป็นการยุติการสอบสวนไปก่อน จนกว่ามีพยานหลักฐานใหม่ เพราะคดีหายสาบสูญ “ไม่จำกัดอายุความ” เว้นแต่ญาติแจ้งความประสงค์ขอยุติการสืบสวนค้นหา
ทั้งนี้ อธิบายการทำงานปัจจุบันว่า หากมีการร้องเรียนต่อหน่วยงานใดก็ต้องเป็น “เจ้าภาพ” แรกในการเริ่มค้นหา ส่วนผู้ที่ถูกบังคับสูญหายในต่างประเทศซึ่งมี 9 ราย มีการตั้งคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบที่ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลสูญหายในประเทศ เป็นการแยกบัญชีกัน โดยทั้ง 9 ราย มีอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบหลัก
สำหรับสถิติผู้สูญหายในมุมมองสากล ยอมรับว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศ เพราะทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่รัฐไทยว่าเหตุหรืออุปสรรคใด จึงยังติดตามชะตากรรมไม่ได้ และอาจมีข้อสงสัยเรื่องคดีความมีความซับซ้อนหรือไม่จึงไม่สามารถคลี่คลายได้ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม และเวทีสิทธิมนุษยชน
“เราหวังว่าในอนาคตจะไม่มีตัวเลขผู้หายสาบสูญ หรือถูกบังคับสูญหายเกิดขึ้น เพราะนับแต่มี พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ก็ยังไม่ปรากฏรายชื่อผู้ถูกบังคับสูญหาย หรือร้องเรียนการอุ้มหาย และยืนยันจะเดินหน้าติดตามชะตากรรมของบุคคลที่เหลืออีก 5 ราย ไม่หมดหวัง แม้จะต้องใช้ระยะเวลาเท่าใดก็ตาม”.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน