ขณะที่ประเทศต่าง ๆ เร่งออกกฎเกณฑ์ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรและการหมุนเวียนของเสีย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐไทย จึงหยิบหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต พัฒนาเป็น “ร่างพ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน” หรือ กฎหมาย EPR ที่มีเป้าหมายประกาศใช้ในปี 2570

ทั้งนี้ก่อนที่ภาคบังคับ จะมีผลในการประกาศใช้ “ชญานันท์ ภักดีจิตต์” รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม จนถึงขณะนี้ คณะทำงานได้ขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR ผ่าน 7 แผนงานในระยะ 5 ปี คือ 1. สนับสนุนการดำเนินการภาคสมัครใจ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 3. พัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้าน EPR โดยการถอดบทเรียนจากการนำร่อง 4. จัดเตรียมข้อมูลและฐานข้อมูล 5. แผนพัฒนาข้อเสนอแรงจูงใจ ในการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR 6. สร้างการรับรู้ ความเข้าใจเพื่อสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน 7.การพัฒนากฎหมาย EPR ซึ่งการเริ่มต้นโดยภาคสมัครใจ จะทำให้ขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถทำได้ครบทุกมิติ ทั้งการจัดการตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

ขณะที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) องค์กรตัวแทนภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดย “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธาน ส.อ.ท. ยํ้าความสำคัญในเป้าหมายการดูแลสิ่งแวดล้อมเรื่องความยั่งยืน ถือเป็นเทรนด์ของโลก โดยยึดหลักของ ESG ในภาคการผลิต ทุกเวทีของโลก รวมถึงทุกคนจะต้องให้ความเอาใจใส่ในเรื่องนี้ จากสถานการณ์ที่มองถึงภาวะโลกร้อน ซึ่งกำลังประสบปัญหาเดียวกันทั่วโลก ผ่านภัยพิบัติ และเรื่องภัยธรรมชาติ ที่จะรุนแรงมากขึ้น ส.อ.ท. ได้ตระหนักและพร้อมผลักดัน การดำเนินการด้าน EPR ผ่านสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อบูรณาการการทำงาน จากแผนงานสู่ภาคปฏิบัติ เพราะ EPR เป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย องค์ประกอบสำคัญของ EPR อย่างกฎหมาย มาตรการต่าง ๆ ระบบข้อมูล ระบบเก็บกลับ ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่มีความพร้อมในปัจจุบัน ดังนั้น TIPMSE จึงอาสารับหน้าที่เป็นตัวกลาง สร้างความร่วมมือ ขยายเครือข่าย พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้ ความเข้าใจ เตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงจากกฎหมายดังกล่าว

ที่ผ่านมา TIPMSE ได้เริ่มทดลองทำงานร่วมกับท้องถิ่นกว่า 12 แห่ง ใน จ.ชลบุรี ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เป็นต้น ก็เพื่อศึกษาความพร้อมของท้องถิ่นในการรับมือกับบทบาทของผู้จัดเก็บและรวบรวม และศึกษาแนวทางการส่งเสริมท้องถิ่นตามบทบาทหน้าที่ขององค์กรผู้แทนความรับผิดชอบ หรือ PRO จากการทดลองของ TIPMSE ทำให้เราเกิดเครือข่ายความร่วมมือในการเก็บกลับกับอีก 3 องค์กรสำคัญอย่าง PPP Plastic, PRO Thailand Network และ Al Loop และในปี 2568 ก็จะเกิดการทดลองการดำเนินงาน EPR ภาคสมัครใจในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อถอด
บทเรียนการดำเนินงาน และนำเสนอภาครัฐ หาบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทย

“โฆษิต สุขสิงห์” รองประธาน ส.อ.ท. และประธาน TIPMSE ได้แสดงความคิดเห็นถึง “ความท้าทายของการพัฒนา EPR ในประเทศไทย ก็คือการที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทันกับมาตรการตามหลัก EPR ที่ประเทศอื่น ๆ กำหนดขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบในการส่งออกหรือการค้าในอนาคตได้ ซึ่งไทยก็อาศัยบทเรียนจากต่างประเทศ พัฒนาองค์ประกอบของ EPR จนมีความก้าวหน้าในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การทดลองทำงานกับท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบเก็บขน การศึกษาฐานข้อมูลการไหลบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย การวางแผนการทดลอง PRO การสื่อสารเพื่อสร้างความพร้อมกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ วางรากฐานความรู้ของบุคลากรทางการศึกษาเพื่อบูรณาการเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการสร้างความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม มากกว่า 1,000 องค์กร โดยการสร้างความเข้าใจต่อหลัก EPR และการนำหลักการ Eco Design เพื่อสนับสนุนระบบ EPR เน้นออกแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อเป็น Guideline ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ให้เข้าสู่วงจรรีไซเคิลได้”

จากความคืบหน้าในการผลักดันดังกล่าว TIPMSE ยังคงเดินหน้าหาพันธมิตรในการร่วมขับเคลื่อน นอกเหนือไปจากหน่วยงานรัฐ
อย่างกรมควบคุมมลพิษ ที่เป็นครั้งแรกในการพัฒนากฎหมายที่ให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด หรือองค์กรต่างประเทศ อย่าง GIZ หรือสถานทูตเดนมาร์ก ที่นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมทำงานอย่างจริงจัง อีกทั้ง 149 องค์กร
ในปีนี้ที่แสดงความมุ่งมั่นที่จะยืนเคียงข้างกันในการทำให้ประเทศไทยไม่น้อยหน้าประเทศใด เพราะเราจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ไม่ใช่แค่การเก็บกลับที่ภาคเอกชนให้ความสนใจ การพัฒนาการออกแบบเพื่อให้สามารถรีไซเคิลได้ หรือ Design for Recycle (D4R) เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตมุ่งเป้า แม้ผู้ผลิตต้นนํ้าเองอย่าง กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ที่มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถกลับไปรีไซเคิลได้ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาจต้องแตกต่างจากในอดีต จากการใช้หลายส่วนประกอบที่ทำให้นำไปสู่การรีไซเคิลได้ยาก หรือ Multilayer Packaging กลับมาเป็น Multilayer Packaging ที่ใช้วัสดุ ส่วนประกอบ หรือพลาสติกชนิดเดียวกันได้ แต่ยังคงรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้ไม่แตกต่าง และยังนำกลับไปรีไซเคิลได้.