นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สัมภาษณ์ “ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 67 มีมติเห็นชอบให้ รฟท. ดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ ขนาดกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 113 คัน วงเงินงบประมาณ 23,730 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้า รวมทั้งรองรับโครงการรถไฟทางคู่ ที่จะทยอยเปิดใช้งานในอนาคต โดยหัวรถจักรมีระบบการทำงานแบบไฮบริดเครื่องยนต์ดีเซลผสมแบตเตอร์รี่ สามารถประหยัดพลังงานได้ประมาณ 10-30%
นายวีริศ กล่าวต่อว่า สำหรับคุณสมบัติของหัวรถจักร เป็นเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า (ไฮบริด) น้ำหนักกดเพลาไม่เกิน 20 ตันต่อเพลา ถูกออกแบบ และผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย มีสมรรถนะการลากจูงขบวนรถสินค้าที่ความเร็วสูงสุด 70 กม.ต่อ ชม. น้ำหนักไม่น้อยกว่า 2,500 ตัน ทางราบที่ความเร็ว 70 กม.ต่อ ชม. สมรรถนะลากจูงสินค้าน้ำหนักไม่น้อยกว่า 1,900 ตัน ทางชัน 12 เพอร์มิล สมรรถนะลากจูงสินค้า น้ำหนักไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน ทางชัน 20 เพอร์มิล ขั้นตอนหลังจากนี้ รฟท. จะเร่งเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาต่อไป ส่วนการจัดหารถดีเซลราง (Hybrid DEMU) 184 คัน อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อชี้แจงสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า การจัดหาหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่ กล่าวถึงกันมานานเกือบ 10 ปี ผ่านมาแล้วหลายรัฐบาล แต่ยังไม่ผลักดันจริงจัง ทั้งที่เป็นเรื่องจำเป็นมาก ส่วนใหญ่มีอายุใช้งานหลายสิบปี ไม่สามารถตัดออกบัญชีการใช้งานได้ เพราะขาดแคลนหนักและต้องซ่อมบำรุงตลอด ขณะนี้ รฟท. มีนโยบายส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่อสร้างรายได้ให้ รฟท. มากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีหัวรถจักรมาใช้ลากจูงแคร่ขนส่งสินค้า ทั้งนี้ รฟท. จัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้าครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 จำนวน 50 คัน วงเงินประมาณ 6,500 ล้านบาท ที่แฟนรถไฟเรียกกันว่าหัวรถจักร “อุลตร้าแมน” นำมาให้บริการทดแทนหัวรถจักรเก่า เพื่อรักษาขีดความสามารถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าให้คงเดิม
ปัจจุบัน รฟท. ให้บริการขบวนรถโดยสาร 220 ขบวน/วัน แบ่ง 2 ประเภท ขบวนรถโดยสารเชิงสังคม 146 ขบวน/วัน และเชิงพาณิชย์ 74 ขบวน/วัน มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารปี 67 ประมาณ 30,870,000 คน นับเป็นรายได้กว่า 3,921.30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังให้บริการขนส่งสินค้า 62 ขบวน/วัน ในปี 67 มีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 12,8000,000 ตัน นับเป็นรายได้กว่า 2,122.60 ล้านบาท.