ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม นายสมฤทธิ์ วงษ์สวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สมุทรสงครามเป็นประธานประชุมสภาเกษตรกรจังหวัดฯ ครั้งที่ 7/2567 ที่ประชุมพิจารณาผลการศึกษา การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคเกษตรกรรม กรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวพืชเศรษฐกิจของ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีสาระสำคัญคือ เนื่องจากปี 2560 เกิดปัญหาหนอนหัวดำระบาดสวนมะพร้าว รวม 16 ตำบล 55 หมู่บ้าน มากกว่า 1,092 ไร่

จากการสำรวจความเห็นเกษตรกร จึงเสนอมาตรการแก้ไขระยะสั้นคือ กรณีต้นมะพร้าวมีทางใบถูกทําลายมากกว่า 10 ใบขึ้นไปถือว่าเสียหายมาก ให้ฉีดสารอิมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC เข้าต้น สำหรับต้นมะพร้าวที่มีความสูงเกิน 12 เมตร อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อต้น และสูง 4-12 เมตร อัตรา 5 มิลลิลิตรต่อต้น ส่วนระยะกลางคือ พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรด้วยการใช้โดรนฉีดพ่นสารเคมีเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนหัวดําในสวนมะพร้าวผ่านโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้ให้บริการโดรนกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว (Service Provider) ซึ่งอยู่ระหว่างขอรับงบประมาณโดยความร่วมมือการวิจัยระหว่างสํานักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน สภาเกษตรกร จ.สมุทรสงคราม สมาคมอารักขาพืช และมาตรการระยะยาวคือ เร่งส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ผลิตสารชีวภัณฑ์และศัตรูธรรมชาติใช้ควบคุมศัตรูพืชในพื้นที่ที่มีการระบาดได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

ส่วนผลการศึกษา การประกันความเสี่ยงผลผลิตทางเกษตรกรรม การประกันภัยพืชเศรษฐกิจหลัก (มะพร้าว ส้มโอ ลิ้นจี่) ส่วนใหญ่เกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้ง (ภาวะโลกร้อน) และน้ำเค็มรุก รวมทั้งได้รับความเสียหายจากแมลงศัตรูพืชและการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความต้องการให้ประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร จึงเสนอรัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันภัยพืชผล เกษตรกรรม และการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในการติดตามและประเมินความเสี่ยง ที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบทั้งสองร่างเพื่อนำเสนอต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติในวันที่ 16 ธ.ค. 2567 และจะนำไปสู่การผลักดันในระดับชาติต่อไป

นอกจากนี้ยังรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบเกษตรกรรม ความคืบหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาผู้ให้บริการกำจัดแมลงศัตรูพืชสวนใน จ.สมุทรสงคราม หรือการใช้โดรนกำจัดหนอนหัวดำ ล่าสุดคาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องงบประมาณและพื้นที่การทดลองในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามสมาชิกสภาฯ ได้แสดงความกังวลกรณีผู้เลี้ยงชันโรง หรือผึ้งจิ่ว ใน อ.อัมพวา เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีกำจัดหนอนหัวดำได้ ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมเห็นว่าควรแจ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงเรื่องวัน เวลาที่จะทดลองบินโดรนหรือฉีดยาต้นมะพร้าวเพื่อให้เกษตรกรเก็บชันโรงไว้ในลังจนกว่าจะถึงระยะเวลาที่ปลอดภัย

ส่วนเรื่องผลผลิตส้มโอขณะนี้ได้รับผลกระทบด้านการตลาดจากส้มโอพื้นที่อื่นที่คุณภาพใกล้เคียงกับส้มโอของ จ.สมุทรสงคราม และช่วงนี้ยังพบว่าส้มโอของ จ.สมุทรสงครามคุณภาพลดน้อยลงเนื่องจากอากาศที่แห้งแล้งและบางส่วนยังขาดการให้น้ำ ซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดจะประสานสำนักงานเกษตรจังหวัดเข้าไปดูแลชาวสวนส้มโอเรื่องนี้ด้วย ส่วนกรณีผู้เลี้ยงปลาสลิดได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำที่ก่อให้เกิดคุณภาพน้ำเสียจากสภาวะแก๊สไข่เน่าหมักหมม ในพื้นที่ ต.แพรกหนามแดง เนื่องจากล่าสุดมีการปล่อยน้ำจากชลประทานมาเพียง 5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงไม่เพียงพอต่อการผลักดันแก๊สไข่เน่าให้เจือจาง ส่งผลให้น้ำมีคุณภาพต่ำ เรื่องนี้สภาเกษตรกรฯ จะตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาและลงพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูสภาพปัญหาในพื้นที่จริงของเกษตรกรและจะนำไปสู่การแก้ต่อไป