เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สงขลา ว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายครอบครัวประสบปัญหาพิษเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นายอารีย์ วงศ์อารีราษฎร์ อดีตวิศวกรไฟฟ้า สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา วัย 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 442/2 หมู่ 2 ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา  หลังจากเกษียณจากงานได้หันมาทำการเกษตร โดยใช้พื้นที่บริเวณรอบบ้านปลูกพืชผัก ไม้ประดับ และเพาะพันธุ์กล้าไม้เศรษฐกิจจำหน่าย สร้างสุขใจวัยเกษียณกับครอบครัว ที่สำคัญได้เลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอามูลทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ใช้ในแปลงเกษตรของตนและเหลือจำหน่ายสร้างรายได้ควบคู่กับการจำหน่ายพันธุ์กล้าไม้อีกด้วย

นายอารีย์ กล่าวว่า หลังเกษียณจากงานประจำก็สนใจหากิจกรรมทำยามว่างและโดยส่วนตัวชอบด้านการเกษตรอยู่แล้ว อีกทั้งก็มีเพื่อนๆที่ทำการเกษตรหลายคน ก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จึงตัดสินใจใช้พื้นที่บริเวณรอบๆบ้านของตนเองปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน และเพาะกล้าไม้ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ ไม้เศรษฐกิจ อาทิ กาแฟ โกโก้ อะโวคาโด มะฮอกกานี และตำเสา เป็นต้น ส่งจำหน่าย รวมทั้งได้เลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมูลหรือขี้ไส้เดือนทำเป็นปุ๋ย ใช้ในการเพาะปลูกต้นไม้ ซึ่งปุ๋ยมูลไส้เดือนเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารสูง เป็นเศษซากอินทรีย์วัตถุต่างๆ รวมทั้งดินและจุลินทรีย์ที่ไส้เดือนดินกินเข้าไปแล้วผ่านกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุเหล่านั้นภายในลำไส้ของไส้เดือนดิน จึงขับถ่ายเป็นมูลซึ่งมูลที่ได้จะมีลักษณะเป็นเม็ดสีดำ มีธาตุอาหารพืชอยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ในปริมาณที่สูง เหมาะแก่การนำมาใช้ในการทำเกษตรโดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์

ทั้งนี้ได้เลี้ยงไส้เดือนมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว  วิธีการเลี้ยงไส้เดือน จะใช้ไส้เดือนสายพันธุ์เอเอฟ (แอฟริกันไนท์ครอเลอร์) เนื่องจากสายพันธุ์นี้ขยายพันธุ์ได้เร็ว ลูกดกแถมตัวโต และเตรียมวัสดุอุปกรณ์ โดยใช้มูลวัวนมเพื่อเป็นอาหารไส้เดือน กะละมังสีดำเจาะรูที่ก้นประมาณ 20 รู เพื่อระบายน้ำและความร้อน ขั้นตอนการเลี้ยง นำมูลวัวนมมาแช่น้ำในบ่อซีเมนต์ จำนวน 2 วันแล้วถ่ายน้ำออกเสร็จแล้วแช่น้ำอีก 2 วันและถ่ายน้ำออกอีกครั้งรวม 4 วัน เพื่อลดกรดแก๊สและคลายความร้อนในมูลวัว ทดสอบโดยการใช้มือกำมูลวัวแล้วจะต้องไม่แฉะ ไม่ร้อนและทำให้มูลวัวนิ่มเหมาะที่จะเป็นอาหารอย่างดีของไส้เดือน ซึ่งเรียกว่าเบดดิ้ง (ที่อยู่และอาหารของไส้เดือน) จึงนำมาเลี้ยงไส้เดือนได้

จากนั้นนำกระดาษหรือกระดาษถาดไข่ฉีดน้ำให้ชุ่มมารองก้นกะละมังที่เจาะรูไว้แล้ว นำมูลวัวที่แช่น้ำไว้ (เบดดิ้ง) ใส่กะละมังสูงประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นเตรียมหลุมเล็กๆตรงกลางในกะละมัง นำไส้เดือน 1 กำมือหรือประมาณ 3 ขีด ใส่ลงไปและนำมูลไส้เดือนเดิมเติมลงเล็กน้อยเพื่อให้ไส้เดือนปรับสภาพกับที่อยู่ใหม่ หลังจากนั้นนำกะลามังที่เลี้ยงไส้เดือนวางไว้ในที่ร่มหรือในโรงเรือน ระวังไม่ให้โดนแสงแดดและฝน จะฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้น 2-3 วันครั้ง ไส้เดือนจะเจริญเติบโตและผสมพันธุ์ วางไข่ และออกเป็นตัวอ่อน หลังเลี้ยงประมาณ 30 วัน ไส้เดือนจะกินอาหารหมด จากมูลวัวได้เป็นมูลไส้เดือนพร้อมตัวอ่อนไส้เดือน นำมาร่อนแยกเอาตัวไส้เดือนออกโดยใช้ตะแกรงร่อน และนำตัวไส้เดือนเลี้ยงอาหารในกะละมังใหม่ต่อไป ส่วนมูลไส้เดือนนำมาผึ่งลมไว้ 10 วันเพื่อลดความชื้น จึงนำไปใช้กับพืชและวางจำหน่ายได้

ปัจจุบันตนเลี้ยงไส้เดือน 47 กะละมัง แต่ละกะละมังหลังเลี้ยง 30 วัน จะได้มูลไส้เดือน 4 กิโลกรัม เหลือจากใช้ในแปลงเกษตรของตนเองแล้วจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจทั้งในและต่างจังหวัดราคากิโลกรัมละ 20 บาท นับเป็นรายได้เสริมสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้อย่างดี รวมทั้งตนยังจำหน่ายกล้าไม้พืชเศรษฐกิจอีกด้วย