ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ของปี 2568 ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะภัยแล้งเกิดขึ้น ทางกรมชลประทาน ได้มีนโยบายให้ดำเนินการป้องกันปัญหาภัยแล้งทุกพื้นที่ ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้เร่งดำเนินการตามมาตรการของกรมชลประทานอย่างต่อเนื่อง โดยนายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน รวมทั้งหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1-8 เข้าประชุมวางแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายณรงค์ วงค์จันทร์ทิพย์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 7 โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากที่มีการดำเนินการก่อสร้างฝายดอยน้อย จากเดิมฝายน้ำล้นเป็นประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิง มีพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 3,200 ไร่ มีกลุ่มผู้ใช้น้ำ 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกลุ่มสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้า กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำคลองส่งน้ำฝั่งขวา และกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังที่อยู่ด้านบนของฝายดอยน้อย ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะได้รับประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำจากตัวฝาย ก่อนที่ฝายจะทำการก่อสร้างนั้น ผู้ใช้น้ำทั้งหมด 3 กลุ่มดังกล่าว ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากลำน้ำปิง ขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดี ภายหลังจากฝายดอยน้อยทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็สามารถช่วยเหลือเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งของปี 2568 นี้ ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ และสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มีการประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำ ให้ดำเนินการส่งน้ำและเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามรอบเวรของการรับน้ำ เช่น เหมืองส่งน้ำก็จะส่งน้ำไปในช่วงของการเพาะปลูก จะส่งน้ำทั้งหมด 290,000 ลบ.ม. ต่อสัปดาห์ ในช่วงฤดูแล้ง ก็จะจัดส่งน้ำตามรอบเวร โดยงดเว้นช่วงวันเสาร์ และอาทิตย์ ส่วนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ทั้งหมด 9 สถานี จะเปลี่ยนรอบเวรการสูบน้ำ บางสถานีอาจจะสูบน้ำช่วงกลางวัน บางสถานีอาจจะสูบช่วงกลางคืน

นายภัทร์ธนศักดิ์ สัตยภาคย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอยหล่อ กล่าวว่า อำเภอดอยหล่อ มีพื้นที่ 93 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทั้งหมด 50,000 ไร่ มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ทั้งหมด 9 สถานี แบ่งเป็นเหนือฝายดอยน้อย จำนวน 5 สถานี และท้ายฝาย จำนวน 4 สถานี ขณะนี้ได้ยึดถือตามนโยบายหลักของคณะกรรมการบริหารน้ำจังหวัด ช่วงนี้น้ำยังมีเพียงพออยู่ หากเกิดแล้งจัด และให้หยุดการปล่อยน้ำในช่วงเสาร์และอาทิตย์ ก็ต้องดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว บริหารจัดการน้ำไม่ให้ขาดแคลน ไม่ให้กระทับกับผู้ใช้น้ำ และประสานกับทางชลประทานตลอดว่ามีนโยบายอย่างไรที่จะบริหารจัดการน้ำได้อย่างถูกต้อง ไม่ให้ขาดแคลนทั้งท้ายฝายและเหนือฝาย และดูว่าทางเขื่อนจะมีการปล่อยน้ำลงมาอย่างไร และเป็นโอกาสอันดีที่ในปี 2568 ทางอำเภอดอยหล่อ ได้รับการสนับสนุน สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแห่งใหม่ จำนวน 2 สถานี คือ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท่าล้อ-ท่าทราย และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านป่าลาน เป็นสิ่งที่ดี เพราะอำเภอดอยหล่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่ได้รับผลจากการที่ชลประทานได้มาก่อสร้างฝายดอยน้อย เป็นการแก้วิกฤติเรื่องน้ำ และเป็นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน

นายทองดี คำจันทร์ อายุ 67 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง หมู่ที่ 5 บ้านสองแคว ต.สองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อก่อนเป็นฝายน้ำล้น หน้าแล้งก็เกิดปัญหาน้ำแห้ง ช่วงฤดูฝนที่เป็นหน้าน้ำจะเลี้ยงมากไม่ได้เพราะระดับน้ำแรงจะเลี้ยงกระชังปลาได้เพียงแถวเดียว ช่วงฤดูแล้งจะเลี้ยงสองแถว ทางชลประทานก็ได้รักษาระดับน้ำไว้ให้ ทำให้สามารถเลี้ยงปลาในกระชังได้ หลังจากที่ชลประทานได้สร้างฝายดอยน้อยก็ทำให้เลี้ยงปลากระชังได้ดีขึ้น รายได้ดีขึ้น

นายพดุง อินต๊ะปัน อายุ 64 ปี เกษตรกรผู้ปลูกข้าว หมู่ที่ 7 บ้านวังมะขามป้อม ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากเดิมเป็นฝายไม้ไผ่ไม่ค่อยดี หลังจากสร้างเป็นฝายคอนกรีตดีมาก การส่งน้ำได้ดีมาก ทำให้การทำนาปลูกข้าวดีขึ้นมาก จากเดิมเคยปลูกข้าวได้ปีละ 1 ครั้ง ปัจจุบันปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง รายได้ก็ดีมากขึ้น ช่วงก่อนหน้านี้เกิดภัยแล้ง แต่หลังจากที่ชลประทานเข้ามาบริการจัดการน้ำก็มีน้ำมาเพาะปลูกต่อเนื่อง ผลผลิตดี และมีสระน้ำภายในหมู่บ้าน หากสระน้ำในหมู่บ้านไม่มีก็จะมีลำเหมืองสาธารณะที่อยู่ตามหมู่บ้านก็จะนำมาใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งน้ำที่เก็บกักสำรองไว้ตามที่ต่างๆ ก็เป็นน้ำที่ชลประทานได้ส่งมาให้เพื่อกักเก็บ เมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งก็นำน้ำส่วนนี้มาใช้ได้

นายพัสกร อินทะยศ ประธานเหมืองฝายดอยน้อย กล่าวว่า ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำได้มีการประชุมสามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง หลังจากที่ได้รับนโยบายจากกรมชลประทาน ที่จัดการประชุมในช่วงเดือนธันวาคม ของทุกปี จะเชิญกลุ่มผู้ใช้น้ำ สถานีสูบน้ำ หน่วยงานราชการ ไปปรึกษาหารือและรับทราบนโยบายในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ว่าจะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างไร จากนั้นทางกลุ่มผู้ใช้น้ำก็จะมีการประชุมเพื่อชี้แจงให้กับกลุ่มสมาชิกทราบว่า ในปีนี้ที่อยู่ในช่วงภาวะแล้งจัด จะมีการบริหารจัดการน้ำด้วยการปล่อยน้ำ วันจันทร์-ศุกร์ และจะปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันศุกร์ และจะเปิดอีกครั้งเวลา 08.00 น. ของวันจันทร์ แต่ในช่วงนี้น้ำยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารเข้าคลองส่งน้ำได้ ก็จะส่งน้ำเข้าไปเก็บที่อ่างเก็บน้ำแก้มลิงในพื้นที่ทั้งหมด 6 อ่างเก็บน้ำ และในแต่ละอ่างเก็บน้ำจะสามารถใช้ได้ 2-3 หมู่บ้าน เพื่อไปช่วยดันระดับน้ำใต้ดินให้สูงขึ้น และจะใช้ปั๊มบาดาลผิวดินสูบน้ำมาใช้ได้ง่าย เพื่อนำมาใช้ช่วงฤดูแล้งของปีนั้นๆ หลังจากที่มีการสร้างฝายดอยน้อย ในส่วนของคลองส่งน้ำ จะมีพื้นที่รับประโยนชน์อยู่ประมาณ 1,300 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นการทำนา การปลูกไม้ยืนต้นประเภท มะม่วงและลำไย การปลูกพืชผักสวนครัว รวมพื้นที่รับประโยชร์ประมาณ 1,300 ไร่

ฝายดอยน้อยมีประโยชน์อย่างมาก จากเดิมเป็นฝายไม้ไผ่ เมื่อถึงเวลา 2 ปี ก็ต้องให้สมาชิกและชาวบ้านพากันไปตัดไม้ในป่า ขณะนี้เป็นอุทยานแห่งชาติไปแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าไปตัดไม้ได้ หลังจากที่มีการสร้างฝายดอยน้อย ก็ทำให้น้ำสามารถส่งเข้าคลองส่งน้ำได้ทุกช่วงเวลา และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2549 ที่เกิดภาวะภัยแล้งในพื้นที่ ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ น้ำไม่สามารถสูบขึ้นมาใช้งานได้ จากบาดาลผิวดิน ระดับน้ำอยู่ต่ำ 5-10 เมตรจากปัจจุบัน เมื่อมีฝายดอยน้อยและทำคลองส่งน้ำเข้าไป ทำให้น้ำในระดับผิวดินสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรสามารถสูบน้ำและใช้น้ำบาดาลผิวดินในการทำการเกษตรได้ดีขึ้น ได้ผลผลิตมากขึ้น และรายได้มากขึ้น