อันดับแรกแน่นอน “คนรัก” ที่เราจะจดทะเบียนต้องไปด้วย ส่วนเอกสารสำคัญห้ามลืม

คู่รักคนไทยทั้งคู่ ต้องพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน ThaiD
คู่รักคนไทยกับต่างชาติ คนต่างชาติต้องพกหนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองสถานภาพการสมรส เพื่อแสดงว่าไม่มีคู่สมรสขณะจดทะเบียน หรือเรียกกันว่า หนังสือรับรองความโสด ที่ออกโดยสถานทูตของประเทศตัวเอง
คู่รักต่างชาติกับต่างชาติ ต้องใช้ทั้งหนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองความโสดของคนทั้งคู่

“พยานรัก” ก็สำคัญ เพราะการจดทะเบียนไม่ว่ารูปแบบใด ต้องนำ พยานที่บรรลุนิติภาวะ 2 คน มาเซ็นเป็นพยาน ซึ่งตามกฎหมายผู้จดทะเบียนสมรสได้ ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ หากสมรสโดยอายุไม่ถึง 18 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ ไม่สามารถมายินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ และหากมีสัญญาก่อนสมรสต้องนำมาแสดงด้วย หากเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศก็ต้องแปลเป็นภาษาไทยให้เรียบร้อย พร้อมการรับรองจากนิติกร ตามขั้นตอนกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

• การจดทะเบียนสมรสไม่มีค่าใช้จ่าย และทำได้ทั้งที่สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต และสถานทูตหรือกงสุลไทยในต่างประเทศทุกแห่ง ยกเว้นกรณีจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ มีค่าธรรมเนียม 200 บาท


• หลังจดทะเบียนสมรส คู่รักเพศเดียวกันจะได้สิทธิและมีหน้าที่ไม่ต่างจากคู่รักชายหญิง ทั้งสิทธิจัดการทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส สิทธิการใช้ชื่อ-สกุลของอีกฝ่าย สิทธิในมรดกเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต สิทธิการฟ้องชู้ หรือกระทั่งสิทธิการลดหย่อนภาษี เป็นต้น

อวยพรกับทุกคู่รัก เพราะความรักเป็นสิ่งสวยงาม การจดทะเบียนสมรสอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ส่วนการรักษาความรักให้ดีเป็นหน้าที่คู่ชีวิต.