เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาตไทย ให้ข้อมูลเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ทางการเกษตร ไปจนถึงการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ภายในเครื่องยนต์ หากสูดดม ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทำให้เกิดอาการทั่วไป ไอ จาม คอแห้ง แสบคอ ตาแดง หายใจมีเสียงวี้ด อาจมีตุ่มผื่นทั่วร่างกาย ส่วนอาการทางระบบประสาท อาจเกิดการอักเสบของหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ และอาจส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจล้มเหลว การได้รับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มากขึ้นทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดหรือเส้นเลือดหัวใจตีบ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในระบบทางเดินหายใจอาจมีอาการกำเริบมากขึ้น จนเป็นอันตรายแก่ชีวิต ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งปอด
สำหรับวิธีดูแลและป้องกันตัวเองจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 คือ งดกิจกรรมกลางแจ้ง ในช่วงที่ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีปริมาณมาก สวมหน้ากากอนามัย N95 ที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ตั้งแต่ 0.3 ไมครอน ออกกำลังกาย รักษาสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อลดปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5