เมื่อวันที่ 3 ก.พ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2567 พร้อมให้กำลังใจบุคลากรทางการศึกษา ณ โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ร่วมลงพื้นที่ด้วย และมี นายสุชาติ บรรจงการ ผอ.โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมให้การต้อนรับ
โดยนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ภาพรวมการจัดสอบดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งขอเป็นกำลังใจให้นักเรียนที่เข้าสอบโอเน็ตทุกคน และขอเป็นกำลังใจในการทำงานให้กับ สทศ. หน่วยจัดสอบ ศูนย์สอบ สนามสอบทุกแห่ง รวมถึงผู้เกี่ยวข้องที่ร่วมแรงร่วมใจกันในการดำเนินการจัดสอบ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับสนามสอบโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ เป็นสนามสอบที่จัดการทดสอบด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) โดยจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สทศ. ได้ดำเนินการตามพันธกิจองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน และส่งเสริมให้ผู้เรียน ฉลาดรู้ (รู้ในสิ่งที่ควรรู้) ฉลาดคิด (คิดอย่างมีเหตุผล) ฉลาดทำ (ทำในสิ่งที่มีประโยชน์) สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า จากการได้รับฟังการกล่าวรายงานทำให้ทราบว่า การทดสอบโอเน็ตในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2567 มีจำนวน 4 วิชา ประกอบด้วย วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ดำเนินการทดสอบด้วยรูปแบบกระดาษ (Paper Pencil) และการทดสอบด้วยระบบดิจิทัล (Digital Testing) สำหรับสนามสอบที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยทั้งประเทศมีจำนวนนักเรียนที่สมัครเข้ารับการทดสอบโอเน็ต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 708,246 คน สามารถจำแนกเป็นทดสอบด้วยรูปแบบกระดาษ จำนวน 704,648 คน และทดสอบด้วยระบบดิจิทัล จำนวน 3,598 คน
ทั้งนี้ สทศ. ได้มีการพัฒนาแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนที่จะใช้ความรู้และทักษะเพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริง รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในภารกิจที่ชัดเจนมาก คือ การนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทดสอบ รวมทั้งได้พัฒนาระบบการอบรมการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้วยบทเรียนออนไลน์ สำหรับการสร้างข้อสอบบนระบบ National Digital Testing Platform 17 รูปแบบ เพื่อให้ครูและผู้รับการอบรมนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลในชั้นเรียน นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลการทดสอบ O-NET ไปใช้พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบ Online และ Onsite เน้นให้ความรู้ พาคิด พาทำ โดยจัดการอบรมให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ