สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ว่า ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางในรัฐแมสซาชูเซตส์ สั่งระงับการดำเนินตามแผนการของมัสก์เป็นการชั่วคราว หลังเขายื่นข้อเสนอต่อเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า 2 ล้านคน ให้ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมรับเงินชดเชย 8 เดือน หรือเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างในอนาคต

ทั้งนี้ สื่อของสหรัฐรายงานว่า คำตัดสินดังกล่าว ทำให้เส้นตายของแผนการข้างต้น ขยายเวลาออกไปจนถึงวันจันทร์ ซึ่งนายจอร์จ โอทูล ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐ จะจัดการไต่สวนคดีที่สหภาพแรงงานยื่นฟ้อง

ด้านนางแคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า 40,000 คน ที่ยอมรับข้อเสนอของมัสก์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับเป้าหมายราว 200,000 คน

ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนของข้าราชการประมาณ 800,000 คน และสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรคเดโมแครต ร่วมกันต่อต้านแผนการดังกล่าว และคัดค้านความถูกต้องตามกฎหมายของการข่มขู่ไล่ออกข้าราชการ

อย่างไรก็ตาม แคมเปญตัดงบประมาณในวงกว้าง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกระทรวงใหญ่ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่บริหารจัดการทุกอย่างมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ตั้งแต่การศึกษา ไปจนถึงหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ

อนึ่ง รายงานจากสื่อของสหรัฐหลายสำนัก ระบุว่า รัฐบาลวอชิงตันมีแผนลดจำนวนบุคลากรของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (ยูเอสเอด) จากมากกว่า 10,000 คนทั่วโลก ให้เหลือน้อยกว่า 300 คน และโครงการชักชวนให้เจ้าหน้าที่รัฐลาออกโดยสมัครใจ ยังขยายไปถึงสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ด้วย

กระนั้น สหภาพแรงงานกล่าวเตือนว่า หากสภาคองเกรสไม่ลงนามอนุมัติการใช้เงินที่จัดสรรโดยรัฐบาลกลาง ข้อตกลงดังกล่าวอาจไร้ค่า พร้อมกับเสริมว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรหลงเชื่อคำพูดที่ดูดีของมหาเศรษฐีซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้ง และลูกน้องของเขา.

เครดิตภาพ : AFP