เคยไหม ที่กลางนอนไม่หลับและรู้สึกเหนื่อยล้าในเช้าวันรุ่งขึ้น? ปัญหานี้อาจไม่ได้เกิดจากแค่ความเครียดหรือปัจจัยภายนอกเท่านั้น แต่ยังอาจเกี่ยวข้องกับลักษณะของงานที่เราทำอยู่ด้วย

CNN สหรัฐอเมริกา รายงานว่า การศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Occupational Health Psychology พบว่า ผู้ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานมีความเสี่ยงต่อการนอนไม่หลับสูงขึ้นถึง 37% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพนักงานที่ทำงานกะกลางคืน พนักออฟฟิศ และเจ้าหน้าที่ที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

‘ดร.แคลร์ สมิธ’ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา กล่าวว่า การนอนหลับมีบทบาทสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาพโดยรวมของพนักงาน แต่รูปแบบการทำงานในปัจจุบันกลับส่งผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพการนอนหลับของพนักงานเอง

ผลการวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่น่าสนใจระหว่างการนั่งทำงานนานๆ กับปัญหาการนอนหลับ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคลากรแล้ว ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรโดยรวมอีกด้วย การลดชั่วโมงการนั่งทำงานและส่งเสริมให้พนักงานมีการเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น จะช่วยลดอัตราการลาป่วย เพิ่มความกระปรี้กระเปร่าในการทำงาน และส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำงานดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในด้านการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

การออกแบบลักษณะในการทำงานมีผลต่อการนอนอย่างไร?

วิจัยข้างต้นได้วิเคราะห์ข้อมูลจากพนักงานกว่า 1 พันคน เป็นระยะเวลา 10 ปี ผ่านโครงการวิจัยระดับประเทศอย่าง Midlife in the United States โดยพิจารณาว่าปัจจัยด้านการออกแบบงานส่งผลต่อรูปแบบการนอนหลับของพนักงานอย่างไร ซึ่ง ‘การออกแบบงาน’ ในที่นี้หมายถึงปริมาณการใช้เทคโนโลยีในที่ทำงาน ระดับกิจกรรมทางกาย และตารางเวลาการทำงาน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่พนักงานต้องปฏิบัติงาน โดยใช้ตัวชี้วัด 6 ประการ ได้แก่ 1. ระยะเวลาการนอน, 2.ความสม่ำเสมอของการนอน, 3. อาการนอนไม่หลับ, 4. พฤติกรรมการงีบหลับ, 5. อาการอ่อนเพลียระหว่างวัน และ 6. ระยะเวลาที่ใช้ในการหลับ

นอกจากนี้ยังแบ่งประเภทของพฤติกรรมการนอนออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่นอนหลับดี (Good Sleepers)มีรูปแบบการนอนที่เป็นปกติและรู้สึกสดชื่นระหว่างวัน
  • กลุ่มที่มีอาการนอนไม่หลับ (Insomnia Sleepers)มีรอบการนอนที่สั้น และมีอาการอ่อนเพลียในเวลากลางวัน
  • กลุ่มที่ต้องนอนชดเชย (Catch-up Sleepers)มักต้องงีบหลับระหว่างวันหรือพึ่งพาการนอนชดเชยในวันหยุดสุดสัปดาห์

หลังสรุปผลการวิเคราะห์ ดร.สมิธ อธิบายว่า รูปแบบการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของร่างกาย เช่น การทำงานกะกลางคืน หรือการทำงานที่ต้องเผชิญหน้ากับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ส่งผลให้พนักงานประสบปัญหาการนอนหลับได้หลากหลายรูปแบบ พนักงานที่ทำงานกะกลางคืนมีแนวโน้มที่จะอยู่ในกลุ่ม ‘ต้องนอนชดเชย’ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ มากถึง 66% ขณะที่พนักงานสายออฟฟิศมักอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาการนอนหลับในรูปแบบอื่น เช่น การนอนไม่หลับ หรือการนอนไม่พอ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานและคุณภาพชีวิตในระยะยาว

“ปัญหาการนอนหลับที่เกิดจากรูปแบบการทำงานมักเป็นปัญหาเรื้อรัง เราพบว่ากว่า 90% ของผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับยังคงประสบปัญหาเดิมต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับธรรมชาติของร่างกายมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานในระยะยาว”ดร. สมิธ กล่าว

นอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว

ดร.สมิธ ชี้ว่า ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับมีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการเกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และภาวะซึมเศร้า โดยมีความเสี่ยงสูงขึ้นถึง 72-188% เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับยังมีแนวโน้มที่จะมีร่างกายที่อ่อนแอและเปราะบางมากกว่าคนทั่วไป

ด้าน ‘ดร.หลุยส์ บูเอนาเวอร์’ ผู้อำนวยการโครงการเวชศาสตร์พฤติกรรมการนอนหลับ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ให้ความเห็นว่า จุดเด่นของการศึกษาชิ้นนี้ คือการติดตามพฤติกรรมการนอนของผู้เข้าร่วมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยอื่นๆ ที่มักจะเน้นการวัดปริมาณหรือคุณภาพการนอนเพียงครั้งเดียว ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยเผยว่าความสัมพันธ์ระหว่างการใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไปกับปัญหาการนอนหลับนั้นอาจไม่ชัดเจนอย่างที่คาดไว้ แม้ว่าแสงจากหน้าจอจะส่งผลกระทบต่อวงจรการนอนของมนุษย์ แต่ประสิทธิภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีก็อาจช่วยชดเชยผลกระทบด้านลบดังกล่าวได้เช่นกัน

แนวทางปรับปรุงคุณภาพการนอน

ดร.สมิธ ยอมรับว่าการเปลี่ยนอาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการด้านการนอนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับหลายๆ คน เขาจึงแนะนำให้ใช้วิธี ‘ปรับแต่งงาน’ (Job Crafting) ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ง่ายและช่วยลดผลกระทบจากการนั่งทำงานเป็นเวลานานได้ เช่น การหยุดพักและเคลื่อนไหวร่างกายเป็นระยะๆ เช่น ลุกขึ้นเดินเพียงเล็กน้อยหรือการใช้บันไดแทนลิฟต์ก็สามารถช่วยกระตุ้นร่างกายและลดอาการง่วงซึมในช่วงกลางวันได้, การตั้งค่าแจ้งเตือนบนโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ลุกขึ้นเคลื่อนไหวทุกๆ 1 ชั่วโมงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ การกำหนดขอบเขตเวลาในการทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยหลีกเลี่ยงการทำงานล่วงเวลาหรือการทำงานในช่วงเวลาก่อนนอนจะช่วยให้นาฬิกาชีวภาพทำงานได้อย่างเป็นปกติ และส่งผลให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น, การลดการใช้หน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือการใช้ฟิลเตอร์แสงสีฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่ทำงานกะกลางคืน ควรควบคุมปริมาณแสงที่ได้รับในแต่ละช่วงเวลาของวัน เนื่องจากการใช้แสงสว่างในช่วงเวลางานและการหลีกเลี่ยงแสงสว่างในช่วงเวลานอนจะช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้ากับตารางการทำงานที่ผิดปกติได้ดีขึ้น

“การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็กน้อยเหล่านี้ หากทำอย่างสม่ำเสมอจะส่งผลดีต่อคุณภาพการนอนในระยะยาว และแม้ว่าการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้ได้คุณภาพการนอนที่ดีขึ้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มค่ากับความพยายามอย่างแน่นอน” ดร.บูเอนาเวอร์ กล่าวทิ้งท้าย