เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 68 มีผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต-parasitic disease research center ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้ หลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอและข้อความ หลังเจ้าตัวสังเกตเห็นสิ่งปริศนายั้วเยี้ยในตัวปู พร้อมระบุข้อความว่า “เป็นคนชอบกินปูนามาก แต่ไม่เคยเจอตัวนี้มาก่อนดับฝันสุดๆ เก็บมาจากเขื่อนค่ะ”

โดย เพจศูนย์วิจัยโรคปรสิต ได้ออกมาให้ความรู้ ถึงสิ่งปริศนาที่เกาะตัวนี้ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ไม่ใช่พยาธิ แต่เป็นปลิง
2. ปลิงที่พบในปู เช่น ปลิงปู และปลิงใส และโดยทั่วไปไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรง แต่สามารถส่งผลกระทบทางอ้อมได้ในบางกรณี
อีกทั้ง ความเสี่ยงจากการบริโภคปูที่มีปลิง มีดังต่อไปนี้
1. การปนเปื้อนของเชื้อโรคนั้น ปลิงบางชนิดอาจเป็นพาหะของแบคทีเรีย ปรสิต (พยาธิใบไม้ปอด Paragonimus พยาธิปอดหนูหรือพยาธิหอยโข่ง Angiostrongylus) หรือไวรัสที่อยู่ในกระแสเลือดของปู ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหาร หากปูไม่ผ่านการปรุงสุกที่เหมาะสม
2. สารคัดหลั่งจากปลิง ปลิงบางชนิดหลั่งสารป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) และอาจมีสารพิษบางชนิด ซึ่งแม้จะไม่ก่อให้เกิดพิษร้ายแรง แต่หากมีการปนเปื้อนอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้
3. อาการแพ้หรือระคายเคืองจากสัมผัสปลิง
4. หากสัมผัสปลิงที่ติดอยู่ในปูโดยตรง อาจเกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองทางผิวหนังในบางคน โดยเฉพาะหากปลิงขับเมือกหรือสารคัดหลั่งออกมา
5. ในกรณีที่ปลิงยังมีชีวิต อาจเกาะติดผิวหนังและดูดเลือดได้ (แม้จะไม่ใช่พฤติกรรมหลักของปลิงที่อาศัยในปู)
6. ความเสี่ยงจากปูที่ติดเชื้อจากปลิง
7. ปลิงที่ดูดเลือดปูอาจทำให้ปูอ่อนแอและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย Vibrio spp. ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษในคน
8. หากบริโภคปูที่ติดเชื้อโดยไม่ปรุงให้สุก อาจเสี่ยงต่ออาการ ท้องเสีย อาเจียน หรืออาหารเป็นพิษ
ชนิดของปลิงที่พบในปู เป็นปลิงน้ำจืดหรือปลิงทะเลที่อาศัยเกาะอยู่ตามกระดองและขาเพื่อดูดเลือดปู โดยมีดังต่อไปนี้
1. ปลิงใส (Glossiphonia sp.)
– พบในปูน้ำจืด เช่น ปูนา
– มีลำตัวโปร่งใสหรือสีอ่อน
– เกาะดูดเลือดจากปู แต่อาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง
2. ปลิงปู (Branchellion sp.)
– พบได้ในปูทะเลและปูน้ำกร่อย
– มีลำตัวแบนและโปร่งใส หรือมีสีออกน้ำตาล
– เกาะติดตามกระดอง ขา หรือช่องเหงือกของปู
– ดูดเลือดและอาจทำให้ปูอ่อนแอ หรือเป็นพาหะนำเชื้อโรค
อีกทั้ง วิธีป้องกันและกำจัด มีดังต่อไปนี้
– แช่ปูในน้ำเกลือเจือจาง (3-5%) ประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้ปลิงหลุดออก
– ตรวจสอบแหล่งน้ำและสภาพแวดล้อม ลดความชื้นและแหล่งอาศัยของปลิง
– ในฟาร์มเลี้ยงปู ควรเปลี่ยนน้ำสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงการใช้แหล่งน้ำที่มีปลิงปะปน
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์วิจัยโรคปรสิต-parasitic disease research center