เมื่อวันที่ 8 มี.ค.นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา (สตอ.) ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ศป.สอศ.) เป็นประธานการประกวดผลงานโครงการ
TO BE NUMBER ONE ระดับภาคใต้ ประจำปี 2568 ประเภทชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อร่วมรณรงค์ในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา สนองพระปณิธานทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี องค์ประธานโครงการ TO BE NUMBER ONE ที่ทรงมีพระปณิธานมุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนไทย ให้เป็นคนเก่งคนดี มีความสุข ปลอดภัย ห่างไกลจากยาเสพติด เติบโตเป็นอนาคตของชาติอย่างเต็มศักยภาพ โดยมีนายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ประธานในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลพระราชทานการประกวดผลงานโครงการ TO BE NUMBER ONEระดับภาคใต้ ประจำปี 2568 และมีหม่อมหลวงยุพดี ศิริวรรณ ที่ปรึกษาโครงการ TO BE NUMBER ONE และเลขาธิการมูลนิธิ TO BE NUMBER ONE พร้อมด้วย นายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้บริหารจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมพิธีประกาศผล
ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นางสาวสรัลกร พุฒนวล นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ นางสาวบุญญะวิภา ตันทนานนท์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ
สำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา นางนันทนา ศรีพินิจข้าราชการบำนาญ กรมสุขภาพจิต นางสาวสตรีรัตน์ รุจิระชาคร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กรมสุขภาพจิต นายยศวรรธน์ กิตติก้อง ผอ.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะและทักษะนักศึกษา นางสาวขวัญเรือน พุทธรัตน์ นักวิเคราะห์นโยบาย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ นางสาวนันทิดา บัวคลี่ ผอ.ส่วนประสานงานการป้องกันยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยในปีนี้กลุ่มภาคใต้มีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประกวด จำนวน 35 ทีม และสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมประกวดจำนวน 10 ทีม รวมทั้งหมด 45 ทีม แบ่งเป็นประเภทดีเด่น 26 ทีม ระดับเงิน 14 ทีม ระดับทอง 2 ทีม ระดับเพชร 3 ทีม มีสถานศึกษาร่วมการประกวดชมรม TO BE NUMBER ONE เพิ่มมากขึ้นและทุกทีมได้ดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐาน และผ่านการแข่งขันในระดับจังหวัด มีการนำเสนอในหลักการ 3ก. 3ย. และ “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ประกอบด้วยแผนปฏิบัติการของชมรมที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์หลักของโครงการ
ทั้งนี้สถานศึกษาอาชีวะทุกแห่งที่เข้าร่วมประกวดสามารถรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง กลุ่มเสพได้รับการบำบัดและฟื้นฟูตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทุกแห่งเป็นสถานศึกษาแห่งความสุข และปลอดภัยห่างไกลจากยาเสพติดทุกชนิด ตามนโยบาย”เรียนดี มีความสุข” ของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ